จี้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ สร้างรายได้-ความมั่นคงพลังงาน

05 พ.ย. 2562 | 08:05 น.

 

รายงาน

แผนงานเร่งด่วนของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ประกาศออกมาจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปีนั้น หนึ่งในแผนงานสำคัญเป็นเรื่องของการปรับแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ(Gas Plan) ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี) ลดการพึ่งพานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีจากต่างประเทศให้น้อยที่สุด ซึ่งการเปิดประมูลให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะถูกบรรจุอยู่ใน Gas Plan เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรก๊าซธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

เร่งศึกษาพื้นที่   

ทั้งนี้ แนวทางที่กระทรวงพลังงานจัดเตรียมไว้ ในการเปิดประมูลให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่นั้น เบื้องต้นยังต้องพิจารณาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือที่มีศักยภาพอีกครั้ง เพราะต้องพิจารณาข้อจำกัดในด้านต่างๆ เช่น กฎหมายทับซ้อนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน จากเดิมที่ผ่านมาได้เคยประเมินไว้ราว 19 แปลง ทั้งบนบกและในทะเล

ส่วนระยะเวลาจะเปิดประมูลให้ยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้เมื่อใดนั้น อยู่ระหว่างการเตรียมการของกระทรวงพลังงาน ที่คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2563

 

จี้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่  สร้างรายได้-ความมั่นคงพลังงาน

 

สำหรับการเปิดประมูลให้ยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ นอกจากจะเพิ่มโอกาสในการค้นพบแหล่งปิโตรเลียม สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศแล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นกิจกรรมและธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงธุรกิจต่อยอดต่างๆ ช่วยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสำรวจใหม่ๆ ที่สำคัญเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศในรูปแบบต่างๆ

 

 

รายได้ 2.3 ล้านล้าน

ทั้งนี้ รายได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมนั้น จะมีทั้งค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต รวมถึงภาษีเงินได้ปิโตรเลียม โดยพบว่าตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงปัจจุบัน (ปีงบประมาณ 2524-2562) การประกอบกิจการปิโตรเลียมสามารถสร้างรายได้ให้กับภาครัฐ จำนวนรวมทั้งสิ้น 2,324,976 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ในรูปแบบค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย และค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต ที่จัดเก็บโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการปิโตรเลียมของประเทศ จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,081,939 ล้านบาท และในรูปแบบภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จัดเก็บโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง อีกจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,243,037 ล้านบาท

จี้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่  สร้างรายได้-ความมั่นคงพลังงาน

ปี 62 โต 1.6 แสนล้าน

อย่างไรก็ตาม การประกอบกิจการปิโตรเลียมสร้างรายได้ให้กับประเทศ ในแต่ละปีงบประมาณ จะมีมูลค่าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น ค่าเงินบาท ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลก ปริมาณการขายและการผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น โดยเห็นได้จากปี 2558 จัดเก็บได้จำนวน 162,799 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 117,182 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 99,577 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 110,677 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้อยู่ที่จำนวน 166,332 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าภาคหลวง จำนวน 45,555 ล้านบาท เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 1,151 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย จำนวน 12,688 ล้านบาท ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต จำนวน 7,758 ล้านบาท และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง จำนวน 99,179 ล้านบาท

 

 

จี้รัฐเร่งเปิดสัมปทาน

ดังนั้น รายได้ที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม จึงถือว่ามีความสำคัญ ที่นำไปเป็นงบประมาณแผ่นดินสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคของประเทศ ตลอดจนนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไม่มีการเปิดประมูลให้ยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ๆ เนื่องจากมีกลุ่มคนที่เห็นต่างกับนโยบายออกมาคัดค้าน ซึ่งในวันนี้ที่ยังเห็นว่าตัวเลขรายได้มีมูลค่าสูงนั้น ก็เป็นผลมาจากสัมปทานที่เปิดมานานแล้วทั้งนั้น เรียกง่ายๆ ว่า กินบุญเก่ามา

ทั้งนี้ หากไม่สามารถผลักดันให้เปิดประมูลให้ยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ได้ ไม่ใช่เพียงประเทศจะขาดความมั่นคงด้านพลังงาน ที่จะต้องพึ่งการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากแล้ว ยังรวมถึงทำให้รัฐขาดรายได้ที่จะนำไปเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศอีกด้วย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,519 วันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2562

จี้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่  สร้างรายได้-ความมั่นคงพลังงาน