ชิ้นส่วนอิเล็กฯจุก มะกันตัดจีเอสพี

31 ต.ค. 2562 | 04:20 น.

 

เอกชนดิ้นปรับแผนรับมือสหรัฐฯตัดจีเอสพี เร่งขยายตลาดอื่นชดเชย เพิ่มสินค้านวัตกรรมเลี่ยงผลกระทบแข่งเดือดกับเวียดนาม อินโดฯ สภาหอฯ ชี้โดน 2 เด้ง “บาทแข็ง-ตัดจีเอสพี” ต้นทุนพุ่ง 20% แบงก์ห่วงไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์กระทบ 4.5 หมื่นล้าน

ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ในสังคมไทยยังไม่จบ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย 573 รายการมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายน 2563 ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ไทยระบุว่าจะส่งผลกระทบ

ทำให้สินค้าที่ถูกตัดสิทธิต้องเสียภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ย 4.5% คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,800 ล้านบาท โดยสหรัฐฯอ้างเหตุไทยมิได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล ขณะที่มุมมองหลายฝ่ายระบุสาเหตุจากหลายประการ เช่น ไทยยังไม่ยอมเปิดตลาดเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯที่ร้องขอมานานแล้ว และไทยจะยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตราย กระทบผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นต้น อย่างไรก็ดีไทยเตรียมเจรจากับสหรัฐฯเพื่อขอให้ทบทวนและคืนสิทธิจีเอสพีให้กับไทยช่วงการประชุมอาเซียนซัมมิทนี้

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สินค้าไทยที่จะถูกตัดสิทธิครั้งนี้จะได้รับผลกระทบแน่นอน มากน้อยแตกต่างกันไปจากเดิมไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เป็นต้องเสียภาษีนำเข้าเฉลี่ย 4.5% เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าพื้นฐานราคาไม่สูงที่ไทยต้องแข่งขันกันกับสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้านในตลาดสหรัฐฯ และยังได้จีเอสพี เช่น สินค้าจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งการถูกตัดจีเอสพีจะทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนและราคาที่สูงขึ้น หากไม่ยอมลดราคาลงผู้นำเข้าก็จะหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นมากขึ้น ดังนั้นผู้ส่งออกในกลุ่มสินค้าที่ถูกตัดจีเอสพีต้องเร่งทำการบ้านเพื่อกระจายสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ ให้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง

“ส่วนในสินค้าที่แข่งขันด้วยนวัตกรรม มีการสร้างแบรนด์ และมีมูลค่าเพิ่มสูง ไม่มีคู่แข่ง หรือมีคู่แข่งขันน้อย สามารถขอคู่ค้าปรับขึ้นราคาได้ตามต้นทุนภาษีที่สูงขึ้น ทำให้กระทบไม่มาก อย่างไรก็ดีในส่วนผลกระทบเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ประเมินแล้วจะทำให้มีภาระภาษีที่ต้องจ่ายให้กับสหรัฐฯ(ภาษีกลุ่มนี้ระหว่าง 3-11%) กว่า 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,600 ล้านบาท(คำนวณที่ 30 บาทต่อดอลลาร์)”

ชิ้นส่วนอิเล็กฯจุก  มะกันตัดจีเอสพี

 

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีธนาคารทหารไทยหรือทีเอ็มบีกล่าวว่า หากอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรพบว่า รายการสินค้าที่จะถูกตัดสิทธิจีเอสพีในวันที่ 25 เมษายน 2563 ส่วนใหญ่ครอบคลุมอยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ด้านคอมพิวเตอร์มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า(แอร์ เครื่องซักผ้า) อีก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะมีภาระภาษีนำเข้า 5-7% จากเดิมไม่เสีย จะทำให้ยอดส่งออกของไทยในสินค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้ที่ใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไปสหรัฐฯมูลค่าประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทได้รับผลกระทบ

“กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าใช้สิทธิจีเอสพีมากกว่ากลุ่มอาหารหรือประมง โดยสหรัฐฯเปิดไพ่จะตัดสิทธิรอบนี้ 40% ของมูลค่าที่ได้รับสิทธิ เหลืออีก 60% หรือ 7.6 หมื่นล้านบาทยังไม่ถูกตัด ดังนั้นผู้ประกอบการควรรวมตัวและแยกประเด็นให้ชัดว่าสหรัฐฯต้องการอะไร แล้วให้สภาอุตสาหกรรมฯ หรือสภาหอการค้าฯ ไปเสนอรัฐบาลเพื่อขอเจรจากับทางสหรัฐฯ”

ด้านนายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การถูกตัดจีเอสพีครั้งนี้ยังมีผลกระทบน้อยกว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่ในรอบ 2 ปี 7 เดือนที่ผ่านมาแข็งค่าแล้ว 16 % ซึ่งเท่ากับสินค้าไทยถูกเก็บภาษี 16% เช่นกันในสายตาผู้นำเข้า จากราคาสินค้าไทยสูงขึ้นตามการแข็งค่าของเงินบาท ดังนั้นเมื่อมาถูกสหรัฐฯตัดจีเอสพีอีกก็เหมือนถูกขึ้นภาษี2 เด้ง (หรือรวมกว่า 20%)

“เหตุผลตัดจีเอสพี เพราะไทยสนับสนุนซื้อ 5G จากหัวเว่ย ซื้อรถไฟความเร็วสูงจากจีน ฯลฯ ส่วนสาเหตุที่สหรัฐฯ ระบุมา (จากเห็นว่าไทยมิได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ) นั้นเป็นข้ออ้างแอบแฝง ปิดบังความจริงไว้เพื่อให้ดูดี อย่างไรก็ดีมาเลเซียไม่ได้สิทธิ GSP จากสหรัฐฯมานานกว่า 15 ปีแล้ว เขาก็ยังส่งออกไปสหรัฐฯมากกว่าไทย ดังนั้นภาคเอกชนไทยก็ต้องปรับตัวเองเพื่อให้อยู่รอดทุกวิถีทาง

อนึ่ง สินค้าไทยที่จะถูกระงับสิทธิจีเอสพีในครั้งนี้ อาทิ มอเตอร์ไซค์ แว่นสายตา เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก อาหารปรุงแต่ง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ทองแดง ผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องประดับ เป็นต้น โดยกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บภาษีอัตราสูงสุดคือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัวเซรามิก (ภาษี 26%) และอัตราตํ่าสุดคือเคมีภัณฑ์ (ภาษี 0.1%) 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3518 วันที่ 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2562

ชิ้นส่วนอิเล็กฯจุก  มะกันตัดจีเอสพี