อุตฯของขวัญ 2.4 หมื่นล.ป่วน ปิดกิจการกว่า 600 ราย 

02 พ.ย. 2562 | 09:50 น.

อุตสาหกรรมของขวัญของชำร่วยฯ ระสํ่า ตลาดใน-นอกหดตัว จากพิษบาทแข็ง สงครามการค้าแข่งขันสูง ทยอยม้วนเสื่อแล้วกว่า 600 ราย เล็งดันโมเดลฟู้ดกิฟต์เลียนแบบญี่ปุ่นช่วยขยายช่องทางจำหน่าย ตลาด 2.4 หมื่นล้าน คาดปีนี้ติดลบ 3%

นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้านที่มีกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีและเป็นสมาชิกของสมาคมกว่า 350 รายว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันทิศทางของอุตสาหกรรมโดยภาพรวมยังไม่ดีขึ้น จากผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อและหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ทำให้การแข่งขันของไทยปีนี้ค่อนข้างลำบากกว่าปีที่ผ่านมา ผลพวงหลักจากเงินบาทของไทยที่ยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาสินค้าไทยสูงกว่าคู่แข่ง และผลจากสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลง

หลายฝ่ายระบุว่าสงครามการค้าจะส่งผลดีต่อไทยแต่ก็ยังไม่ได้เกิดผลดีทันทีซึ่งคงต้องรอดูสถานการณ์ไปอีกสักระยะ นอกจากนี้ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมของขวัญของชำร่วยฯคือ การขาดฝีมือแรงงานที่กำลังเข้าขั้นวิกฤติไปเรื่อยๆ

ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวก่อนที่จะล้มหายไปจากวงการคือการพัฒนาสินค้าและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของการค้า เช่น ปรับขนาดธุรกิจให้เล็กลงจากเดิมอาจจะทำครบวงจรก็อาจจะมาเป็นรับจ้างผลิตอย่างเดียว เป็นต้น อีกด้านหนึ่งขณะนี้ตลาดในประเทศกำลังหดตัวอย่างรุนแรงผู้ซื้อกำลังซื้อลดลง จาก 70% ของอุตสาหกรรมนี้จำหน่ายในประเทศ และอีก 30% คือส่งออก หากตลาดในประเทศหดตัวแน่นอนว่าผู้ประกอบการที่เป็นรายเล็กๆ ที่มีสายป่านไม่ยาวจะล้มหายไปจากวงการ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 20%(600 ราย)จากกว่า 3,000 รายในภาพรวมของอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการไปแล้ว

 

เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเพิ่ม ล่าสุดสมาคมได้เข้าไปหารือกับทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปในการจัดทำของที่ระลึกที่เป็นสินค้าอาหาร ซึ่งยึดโมเดลของญี่ปุ่นมา หลังจากที่ได้เดินทางไปพบปะนักธุรกิจที่ญี่ปุ่นและได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน จึงมีแนวคิดที่จะนำสินค้าประเภทอาหารมาทำเป็นของขวัญของชำร่วยหรือ เรียกว่าฟู้ดกิฟต์เป้าหมายในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

 

ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง และของที่ระลึกที่จะเป็นอาหารนั้นจะต้องเป็นสินค้าประเภทไหน จำหน่ายอย่างไร ราคาเท่าไรเพื่อให้ได้สินค้าที่เหมาะสมกับลูกค้ามากที่สุดหากจะนึกภาพง่าย เหมือนกระเช้ารังนกเป็นต้น สำหรับการส่งออกของขวัญของชำร่วยฯ ที่มีมูลค่าประมาณ 24,000 ล้านบาท คาดปีนี้ติดลบ 3% ส่วนปี 2563 คาดจะยังติดลบ แต่น้อยกว่าปีนี้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,518 วันที่ 31 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2562

อุตฯของขวัญ 2.4 หมื่นล.ป่วน  ปิดกิจการกว่า 600 ราย