ติดเครื่องยนต์ลุยเมกะโปรเจ็กต์ บก-ราง-นํ้า-อากาศ แสนล้าน

05 ต.ค. 2562 | 08:30 น.

ปัจจัยบวกในแวดวงก่อสร้างที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกปี ซึ่งในปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้น 6.5% มีปัจจัยบวกมาจากมูลค่าของโครงการก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็กต์จากทางภาครัฐ ในมิติของโครงสร้างพื้นฐานทั้งเล็กและใหญ่เพื่อเชื่อมความสะดวกสบายในแง่ของการคมนาคมและสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจในมิติของขนส่ง ซึ่งทำแบบคู่ขนานและปลุกปั้นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ด้วยฐานรากดังกล่าว

 

ทว่ายังต้องลุ้นวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม CPH ผู้ชนะในการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินจะจดปากกาเซ็นสัญญากับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้หรือไม่ ตามที่นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม
ทุบโต๊ะขีดเส้นตายไว้ ส่วนโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) นี้ไม่ต้องลุ้นเพราะทาง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือ “GULF-PTT” คาดดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2568 นับเป็นบิ๊กโปรเจ็กต์แรกของผังเมืองรวมอีอีซี

ทั้งนี้ดูเหมือนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยในปี 2558-2565 หรือแผน 8 ปี จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่ายังมีหลากหลายโครงการที่ล่าช้า เช่น รถไฟทางคู่ชุมทางจิระ-อุบลฯ เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย และเส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ตลอดจนศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (งานโยธา) เป็นต้น

ติดเครื่องยนต์ลุยเมกะโปรเจ็กต์  บก-ราง-นํ้า-อากาศ แสนล้าน

อย่างไรก็ตามหนึ่งโครงการที่ส่อแววเริ่มชัดเจนคือ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจไฟเขียวนำโครงการดังกล่าววงเงิน 1.2 แสนล้านบาท เข้า ครม. หวังเร่งก่อสร้างเปิดให้บริการได้ในปี 2569 ตามแผน ซึ่งทางนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะชี้แจงรายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (งานโยธา) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ รวมงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ช่วงมีนบุรี-บางขุนนนท์ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2562 นี้

 

นอกจากเร่งสร้างระบบรถ ราง เรือ อากาศแล้ว งานด้านบริการ อาทิ การพัฒนาระบบตั๋วร่วม หรือบัตรแมงมุม จากระบบ 2.0 (ระบบปิด) เป็น 4.0 (ระบบเปิด) ที่มีความล่าช้ามาหลายปี ล่าสุดได้มีกำหนดว่าจะเปิดใช้งานบัตรแมงมุมได้ภายในเดือนตุลาคม 2562 ต้องมาลุ้นกันต่อว่าจะเลื่อนอีกหรือไม่ พร้อมกันนี้ฝั่งของ ขสมก.ทางกระทรวงคมนาคมจะเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หลังจากใช้เวลา 5 ปี จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ก็ยังไม่มีวี่แววที่จะล้างหนี้สะสมที่ว่ากันถึง 1.2 แสนล้านบาทกันได้สักที

ต้องจับตาห้ามกะพริบ กับการเดินหน้าโครงการใหญ่ที่ดูแล้วยังต้องเดินหน้าอีกหลากหลายมิติทีเดียว 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3511 ระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม 2562