อนุทินเชื่อศักยภาพ”ซีพี” ลุยไฮสปีดได้

03 ต.ค. 2562 | 13:52 น.

 

 

 

อนุทิน”  ยันไม่คิดหัก CPH แต่เดินหน้าเรื่องรถไฟ 3 สนามบินเพื่อประโยชน์ชาติ มั่นใจ 15 ตุลาฯ ฝ่ายเอกชนเซ็นเดินหน้าโครงการแน่นอน

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ –อู่ตะเภา) ซึ่งกำหนดให้กลุ่มบริษัทเอกชนผู้ชนะประมูล หรือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ต้องมาเซ็นรับงานในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ว่ามีการสื่อสารว่าตนหักกับกลุ่ม CP แต่ความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเป็นเช่นนั้น

 

 

 ทั้งนี้ อยากให้เข้าใจว่า ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องนี้ จำเป็นต้องทำงาน หากนิ่งเฉย ย่อมเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อ กลุ่ม CPH ได้ชนะประมูลมาเกือบจะครบ1ปีดังนั้น จึงจำเป็นต้องเดินหน้าโครงการเสียที ในฐานะ เป็นฝ่ายเสนอราคาต่ำสุด  ราคาต่ำกว่าคู่แข่งประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ต้องยอมรับว่าภาครัฐเอง ยังตกใจกับราคานี้ แต่เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก

” แน่นอนว่าพร้อมจะช่วยเหลือฝ่ายเอกชน แต่ก็ขอให้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้อีกอย่างคือ ที่เราทำ เพราะว่าเรามองถึงอนาคต เนื่องจากหากเซ็นรับงานไปทำแล้ว รู้ราคาแน่นอน ทางเอกชน จะได้เจรจากับซัพพลายเออร์เพื่อเดินหน้าโครงการ เพราะ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 กรอบการยืนราคาจะสิ้นสุดลง การดำเนินการให้ CPH มาเซ็นรับงาน มองว่าเป็นการทำเพื่อชาติ เพราะถ้ารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ยังคาราคาซัง ไม่เดินหน้า จะทำให้เกิดการลดทอนความเชื่อมั่นนักลงทุนที่จะมาลงทุนใน เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี  โครงการทั้งหมดจะเกิดปัญหาทันที ดังนั้นจึงออกจดหมายเรียกกลุ่ม CPH มาเซ็นสัญญา ก็เท่ากับทางนั้นรับทราบไปหมด”

 

ส่วนที่มีการบอกว่ากลุ่ม CPH กำลังหาแหล่งทุน นายอนุทิระบุว่า  ไม่ทราบ เป็นเรื่องของฝ่ายเอกชน แต่ส่วนตัวมองว่าทางผู้ชนะการประมูล ต้องการเงื่อนไขที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพ ฝ่ายเอกชนทำโครงการนี้ได้แน่นอน และขอยืนยันว่าภาครัฐจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องตาม TOR

 

เมื่อถามว่า ทางกลุ่ม CPH ต้องการให้รัฐ ส่งมอบพื้นที่ครบ 100% จึงจะลงนามสัญญาก่อสร้าง นายอนุทิน กล่าวว่า แต่ตามสัญญากำหนดเรื่องการส่งมอบพื้นที่ไว้แค่ 50% และตอนนี้รัฐ สามารถทำตามสัญญาที่กำหนดหากจะขอเพิ่มไปกว่านี้  ไม่สามารถทำได้แน่นอน 

คิดว่าวันที่ 15 ตุลาคม กลุ่ม CPH มาลงนามสัญญาก่อสร้างแน่นอน เพราะถ้าหากไม่มา จะต้องโดนแบล็กลิสต์จากรัฐ เป็นการเสียชื่อบริษัท ยิ่งกว่านั้น มันหมายถึงว่านอกจาก CP แล้ว กลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนทั้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก็จะได้รับผลกระทบในการประมูลงานรัฐในอนาคตด้วย เรียกว่าผลเสียมหาศาลจริงๆ”