แบรนด์ดังค้าปลีกมะกัน แห่ย้ายฐานนำเข้าออกจากจีน

21 ก.ย. 2562 | 04:24 น.

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ณ เมืองไมอามี สหรัฐอเมริกา รายงานโดยอ้างข้อมูลของสำนักข่าว Financial ว่า  ผลกระทบจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อจีนที่ตั้งกำแพงภาษี สินค้านำเข้าจากจีนเกือบทุกรายการส่งผลทำให้ผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ ตัดสินใจย้ายแหล่งนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน จักรยาน ไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น เวียดนาม กัมพูชาและไทย

นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐฯ มีส่วนสำคัญในการกดดันให้ผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ ลดการพึ่งพาการผลิตสินค้าจากจีนในอัตราที่รวดเร็วมากขึ้น จากเดิมผู้ประกอบการในสหรัฐฯ เองได้ทยอยลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีนลงอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจัยด้านค่าแรงงานในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงของแบรนด์ผู้จำหน่ายปลีกในสหรัฐฯ หลายรายได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์และแนวทางในการรับมือของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากนโยบายดังกล่าว ที่ขณะนี้สหรัฐฯ ได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตราร้อยละ 15 แล้ว (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2562)

Mr. Michael Casey ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Cater’s ผู้จำหน่ายสินค้า เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสำหรับเด็กกล่าวในระหว่างเข้าร่วมประชุมที่บริษัท Goldman Sachs ว่า บริษัทฯ ได้ลดสัดส่วนพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าจากจีนลงเรื่อย ๆ จากร้อยละ 30 ในปี 2561 จะเหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 20 ในปีนี้ นอกจากนี้หากสหรัฐฯ ยังคงแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอนาคต บริษัทฯ อาจจะจำเป็นต้องลดสัดส่วนการพึ่งพาสินค้าจากจีนลงเหลือเพียงประมาณร้อย 10

ปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ที่จำหน่าย ในกว่า 1,000 สาขาในสหรัฐฯ เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศกัมพูชา โดยบริษัทฯ วางแผนแนวทางในการบริหารกิจการดังกล่าวบนข้อสันนิษฐานที่ว่านโยบายการ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากบริษัท Cater’s ที่มีนโยบายลดการนำเข้าสินค้าจากจีนแล้วบริษัท American Eagle ผู้จำหน่ายเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ในสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีนประมาณร้อยละ 30 ก็ตัดสินใจที่จะลดสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนเช่นเดียวกัน

Mr. Robert Wallstrom ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสินค้าแบรนด์ Vera Bradley ผู้จำหน่าย สินค้ากระเป๋าถือและกระเป๋าเดินทางกล่าวว่า บริษัทฯ ลดการนำเข้าสินค้าจากจีนกว่าร้อยละ 50 เมื่อปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะสามารถลดสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนลงเหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 25 ภายในปีนี้

 ผู้ประกอบการค้าปลีกในสหรัฐฯ ต่างพยายามหาแนวทางในการปรับตัวเพื่อรับมือกับมาตรการเพิ่มอัตรา ภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนโดยมีเป้าหมายที่จะคงระดับราคาขายปลีกและสัดส่วนกำไรเอาไว้ในระดับเดิม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางรายอาจจะมีอำนาจในการต่อรองและสามารถผลักภาระภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ส่งออกในจีนได้ ดังเช่นห้าง Target ผู้จำหน่ายสินค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐฯ ได้แจ้งกับผู้ส่งออกสินค้าในจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าบริษัทฯ จะไม่แบก รับภาระต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากการเรียกภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นโดยผู้ส่งออกจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง

แบรนด์ดังค้าปลีกมะกัน แห่ย้ายฐานนำเข้าออกจากจีน

อย่างไรก็ตามผู้บริหารธุรกิจค้าปลีกบางรายได้ให้ความเห็นว่า ระบบห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจค้าปลีก ค่อนข้างซับซ้อนมาก หากธุรกิจไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วอาจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคตได้

Mr. Morris Goldfarb ผู้บริหารบริษัท G-III Apparel กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในระหว่างการแถลงผล ประกอบการบริษัทว่า หากธุรกิจตัดสินใจที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนแล้วจะไม่มีทางกลับไปได้อีกเพราะโรงงานต่าง ๆ ที่เคยดำเนินกิจการก็จะต้องปิดตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แบรนด์ดังค้าปลีกมะกัน แห่ย้ายฐานนำเข้าออกจากจีน

เขายังกล่าวว่า แม้ว่าแบรนด์แฟชั่นชื่อดังหลายแบรนด์ เช่น DKNY หรือ Andrew Marc จะได้ทยอยลดสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนจากร้อยละ 80 เหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 50 ภายในช่วงระยะ 4 ปีที่ผ่านมา แต่แบรนด์เหล่านั้นก็ยังคงมีนโยบายที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนทั้งหมดจนกว่าจะมีความชัดเจนในด้านจากนโยบายการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเสียก่อน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามีได้วิเคราะห์ว่าระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มต้องการพึ่งพาการผลิตและนำเข้าสินค้าจากจีนนับตั้งแต่ที่จีน เริ่มมีนโยบายเปิดประเทศทางการค้าและต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว เนื่องจากจีนมีจำนวน แรงงานมากมีค่าแรงงานค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังมีกฎระเบียบและมาตรการควบคุมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างประเทศรวมถึงมีจำนวนทรัพยากรที่สำคัญและจำเป็นต่อกระบวนการผลิตจำนวนมากทำให้สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมากในระยะเวลาที่จำกัด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะหลังรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มมีความพยายามที่จะลดการพึ่งพาการผลิตสินค้าในจีน มากขึ้นนับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามาที่ได้ริเริ่มและสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตกลับสู่สหรัฐฯ และส่งเสริม สินค้าที่ผลิตในประเทศภายใต้โครงการ “Made in U.S.A.” แม้จะมีผู้ประกอบการบางรายตัดสินใจย้ายฐานการผลิตสินค้ากลับสหรัฐฯ แต่โครงการดังกล่าวก็ยังไม่ค่อยได้ผลมากนัก ในแต่ละปีสหรัฐฯ ยังคงขาดดุลการค้าจีนอย่างต่อเนื่องเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยข้อมูลล่าสุดจาก The United States Census Bureau รายงานว่า สหรัฐฯ มียอดขาด ดุลการค้าจีนสูงที่สุดในปี 2561 เป็นมูลค่า ทั้งสิ้น 4.19 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ชุด ปัจจุบันตัดสินใจดำเนินนโยบายทางการค้าที่ค่อนข้างรุนแรงกับจีน โดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราสูงเพื่อกดดันให้รัฐบาลจีนเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และเป็นการลดการขาดดุลทางการค้า

 อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ จะสามารถกดดันให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเนื่องจากนโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบ ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกือบทุกรายการจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10-30 ทันที แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะดึงกลุ่มฐานการผลิตเหล่านี้กลับสู่ประเทศเนื่องจากปัจจัยจำนวนแรงงานที่จำกัดรวมถึง ค่าแรงงานขั้นต่ำที่ค่อนข้างสูงในสหรัฐฯ ทำให้ไม่คุ้มค่าที่จะตัดสินใจย้ายฐานการผลิตสินค้ากลับสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่ม สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ของใช้ในครัวเรือน และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูงในขณะที่มีสัดส่วนกำไรสินค้าค่อนข้างต่ำ

 ดังนั้น หากความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงยึดเยื้อไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ในอนาคต อันใกล้นี้มีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มผู้ประกอบการที่ทยอยที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศผู้ผลิตใหม่ ๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา เวียดนาม และไทย มากขึ้นเนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังคงมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังคงได้รับกายกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ ภายใต้โครงการให้สิทธิ พิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) อีกด้วย

ทางสำนักงานฯมีข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะว่า แม้ว่านโยบายการค้าระหว่างประเทศของจีนและสหรัฐฯ จะยังคงตึงเครียด และส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนในทั่วโลก แต่โดยรวมแล้วคาดว่า นโยบายดังกล่าวจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตของไทยในการดึงดูดผู้ประกอบการที่กำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนให้มาตั้งฐานการผลิตในไทย โดยอาศัยจุดแข็งด้านจำนวนแรงงานฝีมือที่มีความพร้อมและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในระดับ ราคาค่าแรงที่สมเหตุสมผล อีกทั้งไทยยังเปรียบเสมือนศูนย์กลางในการขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

แบรนด์ดังค้าปลีกมะกัน แห่ย้ายฐานนำเข้าออกจากจีน

นอกจากนี้ปัจจุบันไทยเองยังมีกำลังในการผลิตคงเหลือ (Excess Production Capacity) มากกว่าประเทศคู่แข่งที่ สำคัญอย่างเวียดนามที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนไปตั้งฐานการผลิตเป็นจำนวนมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนแทบจะไม่มีกำลังการผลิตเหลือแล้วในปัจจุบัน

ดังนั้นผู้ประกอบการไทยยังควรใช้โอกาสดังกล่าวในการเพิ่มสัดส่วนส่งออกสินค้าในตลาดสหรัฐฯ ที่จีน เคยเป็นผู้นำตลาด โดยสินค้าศักยภาพในการขยายตลาดในสหรัฐฯ ได้แก่ สินค้ายางและผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าชิ้นส่วน รถยนต์ สินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สินค้าของเล่น สินค้าของใช้และของตกแต่งบ้าน สินค้าเฟอร์นิเจอร์ และสินค้าอุปโภค และบริโภคอื่น ๆ เป็นต้น

ผู้ประกอบการไทยยังควรที่จะพัฒนาและขยายตลาดไปสู่กลุ่มสินค้านวัตกรรมและ เทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้นเพื่อรองรับการขยายตลาดกลุ่มสินค้า High Tech ในอนาคต เช่น ระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดผู้โดยสาร เด็กเล็กในรถยนต์ที่ผู้ผลิตรถยนต์จะเริ่มติดตั้งในรถยนต์ที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ภายในปี 2568 และชิ้นส่วนแบตเตอรี่ ประเภท High Voltage Battery สำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งกำลังจะเข้ามาแทนที่รถยนต์พลังงาน น้ำมันในอนาคต เป็นต้น

ขณะที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยควรที่จะติดตามความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเพื่อให้สามารถขยายตลาดในสหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป รวมถึงติดตามการพิจารณาต่ออายุโครงการให้สิทธิ GSP ที่กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 อย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการไทยในตลาดสหรัฐฯ