บจธ.ลุยตั้งคณะทำงาน ดันธนาคารที่ดินทั่วไทย

18 ส.ค. 2562 | 10:11 น.

บจธ. หนุนการจัดตั้งองค์กร แก้ปัญหาที่ดินทำกินทั่วประเทศ นำร่อง 4 โมเดล ใน 5 ชุมชนของ จ.เชียงใหม่-ลำพูน ระบุโมเดลการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจรเหมาะกับเกษตรกรและผู้ยากจนในอนาคต เตรียมชง ครม.พิจารณาภายใน 7 มิ.ย.2563

 จากที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. มีภารกิจในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน หรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนนั้น

 นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) หรือ บจธ.  เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการพิจารณาหารูปแบบการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกันกับธนาคารที่ดินว่า หลังจากได้ดำเนินการหารือในเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ อาทิ นักกฎหมาย การเงินการธนาคาร พัฒนาชุมชน ภาคประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในด้านสถาบันการเกษตรของไทย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนหนุนการจัดตั้งองค์กร เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 7 มิถุนายน 2563

บจธ.ลุยตั้งคณะทำงาน ดันธนาคารที่ดินทั่วไทย

“หลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่า องค์กรที่จัดตั้งขึ้นมานี้ จะไม่ใช่รูปแบบเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป เพราะว่าวัตถุประสงค์หลักคือ ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่แท้จริง และเป็นเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง รูปแบบที่เหมาะสม ควรเป็นองค์กรที่จัดตั้งทางสังคมมากกว่าด้านการเงิน ซึ่งจำเป็นต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาที่ดินเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกรได้อย่างบูรณาการ และครอบคลุมอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” 

บจธ.ลุยตั้งคณะทำงาน ดันธนาคารที่ดินทั่วไทย

สำหรับการทดลองโครงการกระจายการถือครองที่ดินใน 4 โมเดลที่ได้ทดลองจัดทำแล้ว คือ โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่และลำพูน โครงการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร โครงการแก้ปัญหาสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน และโครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐนั้น โครงการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจรน่าจะเป็นทางออกและเป็นรูปแบบโครงการการกระจายการถือครองที่เหมาะสมที่สุด เพราะจะให้การดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือดูแลตั้งแต่การจัดหาที่ดินที่เหมาะสม โดยการมีส่วนร่วมของเกษตร การวางแผนการผลิต การจำหน่ายผลิตผล

สำหรับเกษตรกรและผู้ยากจนที่ต้องการรับการช่วยเหลือเงินสินเชื่อดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.labai.or.th หรือส่งอีเมลล์ที่ [email protected] หรือโทรติดต่อได้ที่ โทร 0 2278-1244, 02278-1648 ต่อ 601,602,610 มือถือ 09 2659 1689