“สุริยะ”ลั่นเห็นผลงานภายใน 100 วัน

19 ก.ค. 2562 | 06:21 น.

สุริยะชี้การเข้ามารับตำแหน่งรอบนี้ผู้บริหารกระทรวงต้องทำงานหนักกว่าทุกครั้งจากสภาพเศรษฐกิจ  ระบุภายใน 100 วันจะเห็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรม  แย้มหารือ ธปท. ผ่อนปรนเกณฑ์เครดิตบูโรช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงิน  เชื่อครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจดีขึ้น

                วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม  เดินทางเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง  ตามจุดต่างๆก่อนที่จะประชุมหารือกับผู้บริหารประจำกระทรวง  หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์

“สุริยะ”ลั่นเห็นผลงานภายใน 100 วัน

นายสุริยะ  บอกว่า  ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ตนมีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม  โดยมองว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงจะต้องทำงานกันอย่างหนักที่สุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา  เพราะสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ   เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน  ซึ่งทำให้ไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย  โดยตัวเลขเศรษฐกิจของจีนมีอัตราจีดีพีตกต่ำที่สุดในรอบ 28 ปี  ขณะที่สิงคโปร์ตกต่ำที่สุดในรอบ 10ปี  แต่ตนได้มีการศึกษาและปรึกษากับผู้บริหารระดับสูงในช่วง 10 วันที่ผ่านมา

ทั้งนี้  ตนได้เห็นยุทธศาสตร์ที่ทางกระทรวงได้เตรียมไว้รองรับวิกฤติเศรษฐกิจ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S Curve จาก 5 ด้านเป็น 12 ด้าน  เรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs)  เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน  โดยสิ่งดังกล่าวเหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม  แต่ยุทธศาสตร์จะดีอย่างไร  สิ่งที่สำคัญจะต้องมาจากภาคปฏิบัติที่จะนำยุทธศาสตร์ไปทำให้เห็นผลได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม  กระทรวงอุตสาหกรรมคงไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่จะขับเคลื่อน  จะต้องเข้าไปหารือกับสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้  ขณะที่นายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์   รองนายกรัฐมนตรีเองก็จะต้องเข้ามาช่วยดูแลในภาพรวมด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อไปว่า   ภายในระยะเวลา 100 วันเชื่อว่าจะเห็นผลงานในการปฏิบัติหน้าที่ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องต่างๆที่จะเข้าไปดำเนินการ  โดยในส่วนของการช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น  ณ ขณะนี้เท่าที่ทราบเอสเอ็มอีบางบริษัทต้องการที่จะดำเนินกิจการต่อ  แต่ติดเรื่องของกฎเกณฑ์ในการขอสินเชื่อ  หรือมีชื่อติดอยู่ในบัญชีของเครดิตบูโร  โดยจะต้องดูว่าจะสามารถทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีที่สามารถจัดการหนี้สินได้แล้วสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้  ซึ่งอาจจะต้องเข้าไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะสามารถผ่อนปรนกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ได้อย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับสถาบันการเงิน  โดยจะต้องเข้าไปดูว่าจะให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้อย่างไร

“สุริยะ”ลั่นเห็นผลงานภายใน 100 วัน

“จะเห็นว่าตามปกติเวลาที่เอสเอ็มอีไปกู้กับธนาคารขนาดใหญ่จะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ ก็จะต้องมาที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. (SME D Bank) หากดูที่ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แม้ว่าจะสูง  แต่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปจะมีความแตกต่าง  เพราะเมื่อเวลาที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเป็นหนี้เสีย 100 ล้านบาทก็จะเสียหายทั้ง 100 ล้านบาท  แต่ในขณะเดียวกันเอสเอ็มอีที่ปล่อยแล้วรอด ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปไม่สามารถคิดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้  หนี้เสียแล้วก็คือเสียเลย  แต่หากเป็น ธพว. หากเอสเอ็มอีทำธุรกิจรอดบริษัทเหล่านั้นก็จะจ่ายภาษีให้รัฐบาล  มีการจ้างงาน  ซึ่งมีความแตกต่างกันหลายเท่าตัว  ด้านกองทุนเอสเอ็มอีที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของกระทรวงอุตสาหกรรม  หลังจากนี้จะต้องเข้าไปพิจารณา และศึกษาหาแนวทางเพื่อนำเงินในส่วนดังกล่าวเหล่านั้นมาสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ได้มากขึ้น”

นายสุริยะ กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของนโยบายในการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC)นั้น  มีความพยายามที่จะกำหนดเงื่อนไขให้โครงการขนาดใหญ่ใช้ผลผลิตในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ  โดยเรื่องดังกล่าวนี้จะต้อเข้าไปดูเงื่อนไข  กฎหมายหรือระเบียบต่างๆว่าหากทำตามที่เอกชนเสนอให้ใช้ 50-60% จะสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร  จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับภาคเอกชนเกินไปหรือไม่  หรือจะหาแนวทางในการช่วยเหลือ หรือชดเชยให้กับบริษัทที่ใช้ผลผลิตในประเทศเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

“สุริยะ”ลั่นเห็นผลงานภายใน 100 วัน

“อีอีซีเป็นพื้นที่ที่พนักงาน  หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีรายได้สูงกว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  เพราะฉะนั้นจะต้องไปดูว่าจะผลักดันไปยังภูมิภาคอื่นได้อย่างไรบ้าง  ดูว่าภูมิภาคไหนที่เหมาะสม  ซึ่งเรื่องนี้ต้องปรึกษานายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ ว่าจะดำเนินการอย่างไรในภาพรวม  โดยมองว่าภูมิภาคที่ควรเข้าไปดำเนินการน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้อยู่”

ด้านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเข้าสู่ 4.0 นั้น  จะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งแผนระยะสั้น  และระยะยาว   โดยถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนเรื่องหนึ่งที่กระทรวงจะต้องดำเนินการ  ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือการใช้นวัตกรรมใหม่เข้ามาเชื่อมโยง  โดยปัจจุบันนักธุรกิจรุ่นใหม่ต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรม  หากได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรม  เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยยั่งยืนได้  ซึ่งขณะนี้ก็มีหลากหลายแนวทางที่ถูกนำเสนอเข้ามาเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ

ส่วนนโยบายทางด้านสินค้าเกษตรนั้น  มาตรการชัดเจนที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีส่วนเข้าไปผลักดันอุตสาหกรรมเกษตร  จะต้องมีการแปรรูป  โดยคงต้องขอเวลาเพื่อทำออกมาอย่างเป็นรูปธรรม  ส่วนเรื่องราคาอ้อยทางคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลได้มีการหารือกันบ้าง  แต่ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร

นายสุริยะ ยังได้กล่าวถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังด้วยว่า  ที่ผ่านมาการลงทุนชะงักจากเศรษฐกิจโลก  รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลที่ใช้ระยะเวลานานภายหลังจากที่ได้มีการเลือกตั้งแล้ว  โดยมีผลทำเอกชนรอท่าทีของรัฐบาลใหม่ว่าจะทำอย่างไร   ซึ่งเชื่อว่าหลังจากแถลงนโยบายแล้ว  มีนโยบายชัดเจนแล้ว  จะสามารถดึงนักลงทุนให้กลับมาได้  เพราะนักลงทุนเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประเทศในอาเซียนที่ต้องการเข้ามาลงทุนมากที่สุด

ขณะที่ประเด็นเรื่องผังเมืองอีอีซีที่กลุ่ม EEC Watch กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เผยแพร่แถลงการณ์กลุ่มปฏิบัติการหยุดผังเมืองEEC ซึ่งมีสาระสำคัญได้เรียกร้องให้ 1. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกยุติการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ผังเมือง EEC  2. รัฐบาลต้องสั่งให้มีการทบทวนการจัดทำเมือง EEC ใหม่ตั้งแต่ต้นโดยให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Meaningful Public Participation) นั้น  เท่าที่ได้มีการศึกษาคงจะต้องมีการแบ่งชัดเจนว่าตรงไหนเป็นจุดที่ลงทุน  ตรงไหนเป็นเขตของที่อยู่อาศัย  แผนตรงนี้น่าจะมีกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มาก  แต่สิ่งสำคัญที่ต้องการจะเน้นก็คือ การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมจะต้องให้สามารถอยู่กับชุมชนได้ด้วย  ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเองก็ไม่ต้องการให้กระทบกับชุมชน   ส่วนจะมีการทำประชาพิจารณ์ใหม่หรือไม่  คงต้องดูก่อนว่ามีปัญหาอย่างไร

                นายสุริยะ ยังได้เน้นย้ำประเด็นเรื่องกากขยะอุตสาหกรรมด้วยว่า  เป็นเรื่องสำคัญมากที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องให้ความสนใจ  เพราะเรามีขยะพิษที่เกิดจากในประเทศเอง  ขยะพิษจากต่างประเทศที่เอามาใช้ในประเทศไทยเป็นที่ทิ้งขยะ  ประเด็นดังกล่าวนี้ต้องประสานกับองค์กรต่างๆ  เพื่อหามาตรการที่ชัดเจน  ซึ่งจะต้องเพิ่มความเข้มข้นอย่างแน่นอน  เพราะเป็นปัญหาหลักที่กระทบกับเรื่องของสุขภาพ  และทุกด้าน