ค่าแรง 400 บีบย้ายฐาน เพิ่มยอดส่งออกเพื่อนบ้าน-ต่างด้าว 3 ล้านคนเฮ        

20 ก.ค. 2562 | 23:40 น.

 

การ์เมนต์ผวาค่าแรง 400 บาทต่อวัน บีบย้ายฐานรอบ 2 ช่วยเพิ่มยอดส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน สรท. ชี้เพิ่มต้นทุนสินค้าไทยยิ่งขายยาก วอนขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ชี้เข้าทางแรงงานต่างด้าวเกือบ 3 ล้านคนได้เฮ  

 

...จัตุมงคล  โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 400 บาทต่อวัน โดยให้คณะกรรมการค่าจ้างในระบบไตรภาคี(ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายนายจ้าง)เป็นผู้พิจารณา เพื่อให้ทันเป็นของขวัญปีใหม่แก่ภาคแรงงานทั่วประเทศ แต่ก็ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบกับทั้งนายจ้าง เศรษฐกิจมหภาค และอัตราเงินเฟ้อของประเทศตามมา

ย้อนไปช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่ามา 7 ครั้งแล้ว ครั้งล่าสุดในปี 2561 ค่าจ้างขั้นตํ่าเท่ากับ 308-330 บาทต่อวัน (กราฟิกประกอบ) ดังนั้นการเตรียมปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นตํ่าอีกครั้งเป็น 400-425 บาทต่อวันตามที่พรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาลได้หาเสียงไว้ ย่อมส่งผลดีต่อลูกจ้างที่จะมีรายได้และกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น อีกด้านหนึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อนายจ้างที่จะมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่สูงขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอีในรายที่สายป่านไม่ยาวอาจมีการลดคนงาน หรือถึงขั้นปิดกิจการได้      

ค่าแรง 400 บีบย้ายฐาน  เพิ่มยอดส่งออกเพื่อนบ้าน-ต่างด้าว 3 ล้านคนเฮ          

 

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่ม เผยกับ ฐานเศรษฐกิจว่า หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 400 บาทจะกระทบกับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (การ์เมนต์) ที่ใช้แรงงานมากจะมีการย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ที่มีค่าแรงตํ่ากว่าไทยเพิ่มขึ้น ตัวอย่างปี 2556 ที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ มีผลให้ผู้ประกอบการการ์เมนต์ย้ายฐานไปเพื่อนบ้านรวมกันแล้วมากกว่า 30 โรงงาน ซึ่งเวลานี้ช่วยเพิ่มยอดส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(...) กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าแบบก้าวกระโดด จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ เช่น 1. เกิดการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานจากเพื่อนบ้าน (ข้อมูลกระทรวงแรงงาน ไตรมาส 4 ปี 2561 มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในไทย 2.9 ล้านคน) 2. ภาคเอกชนย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน 3. การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า แต่ผลผลิต (Productivity) เท่าเดิม เป็นแรงกดดันให้แรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวกับการเพิ่มผลผลิต)ตามค่าจ้างที่ปรับขึ้น และ4.ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และนำไปสู่การปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าและบริการ อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ทำให้แรงงานไม่ได้รับเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง เป็นต้น

       

 

สรท. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ ได้มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงตามลำดับขั้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและควรพิจารณาขีดความสามารถอุตสาหกรรมและกลุ่มแรงงานที่มีทักษะที่แท้จริง ตลอดจนอัตราค่าแรงขั้นตํ่าของแต่ละจังหวัด โดยผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ขณะเดียวกันควรออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการทางการคลัง การลดหย่อนภาษีนิติบุคคล ลดหย่อนเงินสมบทประกันสังคม นำเข้าเครื่องจักรมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยไม่มีภาษี และมาตรการSoft loan ดอกเบี้ยตํ่าสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่อาจยังไม่มีพร้อมเพียงพอ เป็นต้น

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,489 วันที่ 21-24 กรกฎาคม 2562

ค่าแรง 400 บีบย้ายฐาน  เพิ่มยอดส่งออกเพื่อนบ้าน-ต่างด้าว 3 ล้านคนเฮ