ส่งออกข้าว 5 เดือนวูบหนัก แข่งราคาเดือด-คู่ค้าชะลอการนำเข้า

30 มิ.ย. 2562 | 02:52 น.

สมาคมผู้ส่งออกข้าวเผย 5 เดือนแรกไทยส่งออกข้าวติดลบทั้งปริมาณและมูลค่า เหตุประเทศผู้ซื้อยังคงมีสต็อกข้าวที่นำเข้าไปก่อนหน้านี้เพียงพอแล้วและไม่เร่งรีบซื้อ  บางส่วนรอดูราคาข้าวก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ขณะที่ส่งออกข้าวในเดือน พ.ค.ปริมาณลดลง5.1%

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงการส่งออกข้าวในเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณ 667,257 ตัน มูลค่า 11,348 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกลดลง 5.1% และมูลค่าลดลง 1.0% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2562 ที่มีการส่งออกปริมาณ 702,927 ตัน มูลค่า 11,463 ล้านบาท เนื่องจากการส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งมีปริมาณลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยในเดือนเมษายนมีการส่งออกข้าวขาว 295,527 ตัน ลดลง 5.9% เทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศแองโกล่า แคเมอรูน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เบนิน ฟิลิปปินส์ เคนยา โตโก โมซัมบิก เป็นต้น

            ส่วนการส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณ 199,099 ตัน ลดลง 20.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ยังคงส่งไปตลาดประจำในแถบแอฟริกา เช่น เบนิน แอฟริกาใต้ เยเมน แคเมอรูน เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 84,852 ตัน เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดหลักของข้าวหอมมะลิ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา

“ในช่วงนี้ภาวะการค้าในตลาดส่งออกค่อนข้างซบเซา เนื่องจากประเทศผู้ซื้อยังคงมีสต๊อกข้าวที่นำเข้าไปก่อนหน้านี้เพียงพอแล้วจึงยังไม่เร่งรีบซื้อเพิ่มเติมและบางส่วนรอดูราคาข้าวก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ขณะที่การแข่งขันในตลาดส่งออกมีมากขึ้นจากการที่ประเทศจีนมีบทบาทในตลาดส่งออกมากขึ้นทำให้ทั้งไทยและอินเดียสูญเสียส่วนแบ่งตลาดบางส่วนโดยเฉพาะตลาดแอฟริกาให้แก่จีนซึ่งปีนี้คาดว่าจีนจะส่งออกได้มากกว่า 3 ล้านตัน จากภาวะการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น”

 ทั้งนี้สมาคมฯคาดว่าในเดือนมิถุนายน2562ปริมาณส่งออกจะอยู่ที่ระดับประมาณ 700,000 ตัน โดยคาดว่าในช่วงนี้จะเป็นการส่งมอบทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่งให้กับตลาดประจำในแถบแอฟริกา เช่น เบนิน แองโกลา แอฟริกาใต้ แคเมอรูน โมซัมบิก เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทยไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน แคนาดา ก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องแม้ว่าปริมาณข้าวหอมมะลิจะลดลง แต่การส่งออกข้าวหอมไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น  ทั้งนี้ราคาข้าวไทยในช่วงนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี ทำให้ช่องว่างระหว่างราคาข้าวไทยและประเทศคู่แข่งมากขึ้น ซึ่งราคาที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประกาศเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ 426 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาประมาณ 5% ขณะที่เว็บไซต์ Oryza.com รายงานว่า ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามและอินเดียทรงตัวอยู่ที่ 373-377 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ปากีสถานราคาอ่อนตัวอยู่ที่ 358-362 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-พฤษภาคม) มีปริมาณ 3,779,313 ตัน มูลค่า 62,418 ล้านบาท หรือ1,975 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณส่งออกลดลง 14.8% และมูลค่าลดลง 12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีการส่งออกปริมาณ 4,437,335 ตัน มูลค่า 71,177.2 ล้านบาท หรือ2,262 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ