คุมกำไร‘รพ.เอกชน’ พาณิชย์ผนึกสธ.ตั้งทีมศึกษาดัดหลังโขกค่ายา

29 มิ.ย. 2562 | 23:00 น.

พาณิชย์เดินหน้าสเต็ป 2 เล็งคุมกำไรสูงสุดโรงพยาบาลเอกชน ดัดหลังเอาเปรียบ “หมอบุญ” ขอความชัดเจนให้ธุรกิจเดินหน้า ชี้การคุมราคายาไม่ใช่ทางออก พร้อมเสนอโมเดล “เวียดนาม” ต้นแบบแชร์ข้อมูล บุคลากร และรายได้รัฐ-เอกชน

  จากที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) ได้ออกประกาศ กกร.ฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 โดยยึด 3 หลักการสำคัญคือ 1.ราคาโปร่งใส-เป็นธรรม 2.ผู้บริโภคต้องมีทางเลือก และ 3.การรักษาที่สมเหตุสมผล

 

ขีดเส้นโชว์ค่ายา 29 ก.ค.

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาราคายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล เผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หลังจากได้เชิญตัวแทนจากโรงพยาบาลเอกชน 353 แห่งมาประชุมชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจ(เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 62) และได้มอบหมายให้ทุกโรงพยาบาลไปจัดทำรายละเอียดต้นทุนราคาซื้อ และราคาขายยา รวมถึงแจ้งราคาซื้อ-ขายเวชภัณฑ์ และราคาค่าบริการทางการแพทย์ มายังกรม (กราฟิกประกอบ) ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบกับบัญชีราคายาของกรมบัญชีกลาง เพื่อดูว่าเป็นราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนหรือไม่ แล้วจึงจะนำราคาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรม และจัดทำคิวอาร์ โค้ดยาแต่ละรายการเพื่อจัดส่งให้โรงพยาบาลไปแสดงไว้เพื่อให้ผู้ป่วยหรือญาติสามารถตรวจสอบได้ เป้าหมายตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป

“ล่าสุดโรงพยาบาลเอกชนได้แจ้งข้อมูลมาทางกรมเกือบหมดแล้ว ซึ่งต่อไปหากทางโรงพยาบาลจะมีการเปลี่ยน แปลงราคายาต้องแจ้งให้กรมรับทราบล่วงหน้า 15 วัน เพื่อจะได้นำข้อมูลมาอัพเดตให้เป็นปัจจุบันแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ หากไม่แจ้งตามที่ประกาศกำหนดจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งเราไม่อยากใช้แต่อยากขอความร่วมมือมากกว่า”

 

เล็งคุมกำไรสูงสุด

ทั้งนี้จากที่ผ่านมามีข้อมูลว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดราคายาสูงกว่าราคาที่ซื้อมาเป็นหลักพัน ถึงหลักหมื่นเปอร์เซ็นต์(กำไร) เรื่องกำไรค่ายานี้ ในที่ประชุมร่วมครั้งล่าสุด หลายฝ่าย เช่นกระทรวงสาธารณสุข สมาคมประกันชีวิตไทย ผู้แทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมการค้าภายในได้เห็นพ้องกันที่ควรมีการศึกษาต้นทุน ราคาจำหน่าย และกำไรจากยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลเอกชน เพื่อกำหนดเพดานอัตรากำไรสูงสุดที่เหมาะสมในแต่ละรายการ ซึ่งจะได้หารือกันต่อไปว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ จะใช้รหัสยาเดิมในการศึกษาหรือไม่ และจะใช้งบประมาณจากไหน ส่วนอัตรากำไรสูงสุดจะเป็นเท่าใดนั้นยังไม่สามารถตอบได้ แต่คาดจะมีความคืบหน้าใน 1-3 ปีนับจากนี้

“ปัจจุบันมีโรงพยาบาลรัฐที่ขอออกนอกระบบราชการ การคิดค่ายา ค่ารักษาพยาบาลอาจสูงขึ้นใกล้เคียงเอกชน เราอาจเข้าไปดูแลในส่วนนี้ด้วย” คุมกำไร‘รพ.เอกชน’  พาณิชย์ผนึกสธ.ตั้งทีมศึกษาดัดหลังโขกค่ายา

นายวิชัยยอมรับว่าก่อนหน้าที่ทางกกร.จะนำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม (อนุมัติเมื่อ 22 ม.ค.2562) มีผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนบางรายได้ล็อบบี้ผู้ใหญ่ของกระทรวงไม่ให้ไปยุ่งในเรื่องนี้ อ้างเหตุผลว่าที่ผ่านมามีกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขกำกับดูแลอยู่แล้ว สมาคมโรงพยาบาลเอกชนจึงได้ยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้การคุ้มครองชั่วคราว(แต่ยังไม่มีคำตัดสินออกมา) เรื่องนี้ในข้อเท็จจริงกระทรวงสาธารณสุขกำกับดูแลเฉพาะในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาล แต่เข้าไม่ถึงการกำกับดูแลเรื่องค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นทางกกร.จึงต้องไปดูแลในเรื่องนี้

 

ยกโมเดลเวียดนามต้นแบบ

  นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารโรงพยาบาลธนบุรี, ธนบุรี บำรุงเมือง กล่าวว่า ปัญหาเรื่องราคาสินค้าและบริการควบคุมในส่วนของโรงพยาบาลนั้น มองว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการนำโมเดลความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership : PPP ) เช่นเดียวกับประเทศเวียดนามในการแบ่งปันข้อมูล ความรู้ บุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือทางการแพทย์ (ระหว่างร.พ.รัฐและเอกชน) ในการดูแลคนไข้ให้ทั่วถึง โดยแบ่งกำไรที่ได้จากส่วนดังกล่าวเข้ารัฐบาล 30% ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้คนไข้ได้รับการบริการในมาตรฐานเดียวกันและมีเครื่องมือที่เหมาะสมแล้วนั้น ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้บุคลากรทางการแพทย์ นอกจากจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาในมาตรฐานเดียวกันแต่แตกต่างตามบริการที่เหมาะสมอีกด้วยและควรควบคุมการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้มีปริมาณเหมาะสม เพื่อป้องกันการคิดค่าบริการและการรักษาที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มต้นทุนในการจัดซื้อ

“โมเดลดังกล่าวเรานำไปใช้ที่ประเทศเวียดนาม ภายหลังภาครัฐมีการประกาศความร่วมมือ ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 ปีก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง และมองว่าหากมีการนำมาตรการนี้เข้ามาใช้ในไทยนโยบายในการก้าวสู่ World Medical Hub ของไทยก็จะเดินหน้าได้เร็วมากขึ้น”

 

เหตุปัญหาจากต้นทุนสูง

นพ.บุญ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้มาจาก 2 ส่วนได้แก่ 1.ระบบการคิดค่ารักษาพยาบาลของเมืองไทยไม่ได้คิดตามราคาต้นทุนจริงของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง แต่คิดตามราคาต้นทุนของโรงพยาบาลรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าโรงพยาบาลเอกชนย่อมมีต้นทุนสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐบาล แตกต่างจากในต่างประเทศที่ให้เริ่มคิดค่าบริการตามต้นทุนจริง โดยบวกกำไรค่ายาได้ไม่เกิน 10%, ค่าเอกซเรย์ ห้ามเกิน 10% จากราคาต้นทุนหรือสามารถสั่งใบจ่ายยาได้ตามความเหมาะสม ทำให้มีราคายาไม่สูงมากนัก 2.โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งมีการบริการและมาตรฐานที่ไม่เท่ากัน การจะมีกำหนดราคากลางเท่ากันนั้นมองว่าไม่มีความยุติธรรมต่อต้นทุนและการบริการในแต่ละแห่ง

“ในธุรกิจโรงพยาบาลหากมีการคิดกำไรตามราคายานั้นนับว่าอันตรายเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรงพยาบาลจะมีการจ่ายยา ทำแล็บ และให้บริการการรักษามากเกินความจำเป็นเพื่อให้สามารถจ่ายยาได้จำนวนมากและมีกำไร แต่หากให้คิดราคาตามต้นทุนจริงทางโรงพยาบาลก็จะไม่มีการชาร์จกำไรจากค่ายา”

 

ชี้คุมราคายาไม่ใช่ทางแก้

ด้านผู้บริหารระดับสูง จากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ปัญหาค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนที่สูงเกินไป ไม่ได้มีแค่เรื่องราคายาเท่านั้น และการคุมราคายาไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง อีกทั้งยังเกิดความไม่ชัดเจนในหลายประเด็น โดยเฉพาะการกำหนดราคายา จะใช้กับคนไทยเท่านั้น หรือชาวต่างชาติก็ใช้เกณฑ์เดียวกัน ซึ่งหากใช้เกณฑ์เดียวกันจะทำให้ชาวต่างชาติมีค่ารักษาพยาบาลที่ถูก ส่งผลต่อดุลการค้า ดังนั้นจึงต้องมีความชัดเจน รวมถึงข้อปฏิบัติของแพทย์ พยาบาลด้วย

ขณะเดียวกันไม่ใช่มีแค่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น แต่ในแง่ของภาครัฐ หรือหน่วยงานเอกชนอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็ต้องปรับให้สอดรับกับมาตรการนี้ด้วย เช่น ธุรกิจประกันภัย ภาครัฐต้องเข้าไปควบคุมกำกับด้วยว่าปัจจุบันการคุ้มครองของประกันภัยให้สิทธิคุ้มครองตามความเป็นจริงแก่ผู้ประกันตนหรือไม่ สิทธิที่ผู้ประกันตนได้รับ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกันตนหลายรายต้องจ่ายเงินส่วนต่างเพิ่มเองจำนวนมาก

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,483 วันที่ 30 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

คุมกำไร‘รพ.เอกชน’  พาณิชย์ผนึกสธ.ตั้งทีมศึกษาดัดหลังโขกค่ายา