พาณิชย์จับมือ 2 สมาคมการค้าจีน ขยายตลาดสินค้าเกษตรไทย

20 มิ.ย. 2562 | 11:07 น.

กรมการค้าภายใน จับมือ2สมาคมการค้าจีน ใช้เครือข่าย 8,200 แห่ง หวังเชื่อมโยงขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงกรมจัดให้มีพิธีลงนาม MOU  เพื่อขยายตลาดสินค้าเกษตรสู่ตลาดจีน ระหว่างสมาคมการค้าเพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร (CASA : Commercial  Association for Sustainability of Agriculture) และสมาคมตลาดสินค้าเกษตรจีน (CAWA : China Agriculture Wholesale Market) กับผู้ประกอบการตลาดกลางภายใต้การส่งเสริมของกรมฯ ได้แก่ ตลาดมรกต เพื่อเชื่อมโยงขยายตลาดสินค้าเกษตรในจีนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  ในการนำสินค้าเกษตรไทยไปประชาสัมพันธ์และทำการตลาดในตลาดที่อยู่ในความดูแลของ CAWA จำนวนกว่า 8,200 แห่ง และ CAWA นำซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงขยายตลาดสินค้าเกษตรในสาธารณรัฐประชาชนจีนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ กรมได้เชิญผู้บริหาร CASA/CAWA เข้าร่วมลงพื้นที่จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ที่สำคัญของภาคใต้และมีผู้ประกอบการตลาดกลางที่มีศักยภาพสูงที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมของกรมฯ  ได้แก่ ตลาดมรกต เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือขยายตลาดสินค้าเกษตรสู่ตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น โดยผลของการหารือ ทั้ง CASA และ CAWA จะร่วมกันสร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่สินค้าเกษตรไทย โดยใช้เครื่องหมายรับรอง AGQC ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่กรมฯสนับสนุนและส่งเสริมให้ตลาดมีการให้บริการด้านคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร 5 ด้าน ได้แก่ 1. การให้บริการคัดแยกคุณภาพสินค้า 2. ตรวจสอบสารพิษสารตกค้าง 3. ตรวจสอบโรคพืชและแมลง  4. บรรจุหีบห่อ และ 5. เก็บรักษาคุณภาพสินค้า ซึ่ง CAWA พร้อมที่จะเริ่มดำเนินการรับซื้อสินค้าที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจาก AGQC เข้าไปขยายตลาดในประเทศจีนได้ทันที โดยทั้ง 2 ฝ่าย ได้บรรลุข้อตกลงที่จะนำมาตรฐานทางการค้าปกติ ซึ่งมีการปฏิบัติและเป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้วในปัจจุบัน (practical standard) เป็นเกณฑ์ในการกำหนดมาตรฐาน AGQC ของผลไม้แต่ละชนิด

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดผลไม้ไทยให้กว้างขึ้น ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าควรมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลมาตรฐาน AGQC สำหรับผลไม้แต่ละชนิด ให้ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทยและจีนรับทราบ และจะจัด Roadshow ให้ผู้ประกอบการไทยที่ได้รับเครื่องหมาย  AGQC นำสินค้าไปจำหน่ายในจีน  โดยในเบื้องต้นกำหนดเดินทางในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ผลไม้ในภาคใต้ออกสู่ตลาดมาก นอกจากนั้น CAWA จะนำสินค้าเกษตรที่ได้รับ  AGQC ประชาสัมพันธ์ในแอพพลิเคชั่นของกระทรวงพาณิชย์จีน เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้นต่อไป

“ความร่วมมือเหล่านี้ถือเป็นโครงการนำร่อง ที่ใช้ตลาดกลางภายใต้การส่งเสริมของกรมฯ ในการรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้า โดยมีกรมการค้าภายในกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งจีนมีความมั่นใจถึงระบบในการออกใบรับรองที่มีภาครัฐเข้ามากำกับดูแลนี้ และการขับเคลื่อน AGQC จะไม่ใช่อยู่ที่สินค้าผลไม้เท่านั้นแต่จะครอบคลุมถึงสินค้าเกษตรทั้งหมดในอนาคต รวมถึงจะมีการพัฒนาให้เป็นระบบตรวจสอบย้อนกลับได้อีกด้วยทั้งนี้ CAWA จะสนับสนุนอำนวยสะดวกสินค้าที่ได้รับ AGQC โดยผลักดันให้มีการอำนวยความสะดวกทางการขนส่ง อาทิ การใช้ระบบ Green Lane เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สินค้าไทยที่จะนำไปขายจีน”

นายสตีเว่น เจียง รองประธานสมาคมตลาดสินค้าเกษตรจีน ระบุว่า ชาวจีนนิยมบริโภคผลไม้ไทยหลายชนนิด โดยตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา การนำเข้าผลไม้ไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 6 ปีติดต่อกัน แต่ปี 2560 กลับถูกประเทศชิลีแซงหน้า และในปี 2561 กลับมาเป็นอันดับ 1 อีกครั้ง โดยสิ่งที่น่าสังเกตคือ ปริมาณนำเข้าผลไม้จากไทยเพิ่มขึ้น 30.7%  แต่มูลค่าลดลง7.7%เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากคุณภาพของผลไม้ไทยที่ลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ค้าไม่ต้องการให้เกิดขึ้นซึ่งมาจากผู้ค้าจีนซื้อแบบหว่านแหโดยไม่ควบคุมคุณภาพ ขณะที่เกษตรกรต้องการขายในปริมาณมาก ไม่เน้นคุณภาพ มีการเร่งการสุก ส่งสินค้าไม่ได้คุณภาพไปขาย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบภายหลังซึ่งในปีที่แล้วจากการตรวจตู้คอนเนอร์พบว่า สัปปะรดบรรจุถุงขนาด 3 ลูกมีทั้งเน่า ดิบ และสุก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ หรือ ปัญหาทุเรียนอ่อนโดยในแต่ละปีจีนนำเข้าผลไม้จากไทยจำนวนมาก หรือกว่า 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่ผู้ค้าจีนระบุการนำเข้าผลไม้จากไทย 10 คอนเทนเนอร์จะได้กำไร 9 ตู้ แต่ปัจจุบัน นำเข้า 10 ตู้ กำไรเพียง 1 ตู้เท่านั้น ซึ่งในอีก 3-4 ปีข้างหน้า หากไทยไม่รักษาคุณภาพสินค้า จะทำให้ผลไม้จากไทยถูกแทนที่ด้วยผลไม้จากเวียดนาม กัมพูชาและเมียนมา สำหรับมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนมีมูลค่ากว่าปี 60,000 ล้านบาท