ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าทั่วไทย ต่ำสุดรอบ 15 เดือน

20 มิ.ย. 2562 | 10:16 น.

หอการค้าเผยเศรษฐกิจทุกภูมิภาคซึมราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กดดันกำลังซื้อไม่ฟื้น ส่งผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าทั่วประเทศลดต่ำสุดรอบ 15 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ในเดือน พ.ค. 2562 ซึ่งทำการสำรวจจากสมาชิกหอการค้าภูมิภาคทั่วประเทศ 370 ตัวอย่าง พบว่า อยู่ที่ระดับ 47.4 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 15 เดือน ลดลงจาก 47.8 ในเดือนก่อนหน้า และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการในทุกภูมิภาค รวมทั้งกรุงเทพฯ มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยลดลง สาเหตุสำคัญมาจากความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาล การเมืองขาดเสถียรภาพ ปัญหาสงครามการค้ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การส่งออกลดลง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กดดันให้กำลังซื้อในภูมิภาคลดลง

โดยจากภาพรวมของดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยล่าสุด สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะซึมตัว ทุกภาคมีปัญหาตรงกันคือราคาสินค้าเกษตร ทั้งนี้ หากการเลือกตั้งผ่านไปเรียบร้อย มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. 2562 มีการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้านบาท รัฐบาลควรมุ่งเน้นเข้าไปดูแลภาคเกษตรและการท่องเที่ยว เพราะหากมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น จะพยุงให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังโตได้ 3.8-4 % และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3.5 %

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ตอนนี้สมาชิกหอการค้าคงต้องจับตานโยบายรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นอย่างไรหลังจากที่ได้นายกรัฐมนตรีแล้วคือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  เช่น หน้าตารัฐมนตรี, นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคร่วมรัฐบาลจะตกลงกันได้หรือไม่และต่อเนื่องจากนโยบายเดิมของรัฐบาลหรือไม่ เพราะรัฐบาลนี้มีหลายพรรคมาก  รวมถึงรัฐบาลจะบริหารจัดการกับเสถียรภาพทางการเมืองเป็นอย่างไรหลังจากที่เสียงสนับสนุนจากสส.ของรัฐบาลใกล้เคียงกับฝ่ายค้าน หรือเรียกว่าเสียงปริ่มน้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชน, ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งเร่งกระตุ้นการลงทุนภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ , การผลักดันระบบขนส่งคมนาคมของประเทศให้เชื่อมโยงกันอย่างมีระบบเพื่อรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจในอนาคต, การขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรประเทศใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาส่งครามการค้าสหรัฐ-จีน, และส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวตามชุมชนรวมถึงสินค้าโอทอปที่เป็นของชุมชนให้มีคุณภาพ เป็นต้น

“ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนนั้นแม้ว่าจะมีบัตรสวัสดิการของรัฐหรือบัตรคนจนเข้ามาช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนกว่า 14 ล้านคน แต่ก็ช่วยสถานการณ์ภาพรวมได้ในระดับหนึ่ง แต่คนในเมืองกับคนในชนบทยังมีรายได้ที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเข้าไปแก้ปัญหาซึ่งเกิดจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะมีผลต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเช่นกัน”