ต้านผังเมืองรวม ไม่เอื้อพัฒนาอสังหาฯ

16 มิ.ย. 2562 | 01:30 น.

เอกชนต้านผังเมืองรวมอีอีซี ชี้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจ.ชลบุรี ห้ามก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ 1 หมื่นตารางเมตร ในพื้นที่สีส้ม และพัฒนาบ้านเดี่ยวได้เฉพาะ 50 ตารางวา เท่านั้น สมาคมอสังหาฯชลบุรี ยื่นหนังสือถึง “คณิศ” จี้หาทางออก

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำลังเดินสายรับฟังความคิดเห็น ต่อ (ร่าง) แผนผังการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ฉบับปรับปรุง) เพื่อนำมาประกอบการจัดทำผังเมืองพื้นที่อีอีซีในภาพรวม ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จและประกาศใช้ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งล่าสุดมีเสียงคัดค้านในการจัดทำร่างผังเมืองรวมอีอีซี ของกรมโยธาธิการและผังเมืองออกมา ว่าไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามวัตถุประสงค์ที่ให้ไว้

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ทางสมาคมได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกให้นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ต่อกรณีผังเมืองรวมอีอีซีไม่เอื้อต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเขตจังหวัดชลบุรี เช่น กรณีที่พื้นที่สีส้มกำหนดให้เป็นชุมชนเมือง เป็นเขตที่มีศักยภาพในการพัฒนาเมืองใหม่ แต่ห้ามก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษพื้นที่ขนาด 1 หมื่นตารางเมตร ควรจะอนุญาตให้สร้างได้ เช่นเดียวกับบางแสน อ่างศิลา เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนั้นพื้นที่ในเขตสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา มีแรงงานจากแหล่งงานในนิคมอุตสาหกรรมได้เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่บริเวณสุรศักดิ์(มอเตอร์เวย์) มีอนาคตที่จะเป็นเมืองใหม่ เป็นศรีราชาแห่งที่ 2

ต้านผังเมืองรวม ไม่เอื้อพัฒนาอสังหาฯ

มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ

อีกทั้ง สถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ในพื้นที่ ทำให้เขตสุรศักดิ์(มอเตอร์เวย์) จะเป็นเสมือนเมือง CBD (Center Business District) เนื่องจากยังมีพื้นที่ว่างพอที่จะสร้างเมืองใหม่ให้มีระบบเมืองที่ตอบรับการเป็นเมืองแห่งอนาคต 4.0 เชื่อมต่อกับพื้นที่ชุมชนชนบทและเกษตรกรรม(สีเหลือง) แต่ตั้งข้อสังเกตว่า มีการกำหนดให้สร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยวขนาด 50 ตารางวา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วบ้านที่ผู้คนในพื้นที่นี้เลือกซื้อส่วนใหญ่แล้วเป็นทาวน์เฮาส์และบ้านแฝดเนื่องจากราคาไม่สูงและขนาดครอบครัวโดยเฉลี่ยในชลบุรีไม่เกิน 2 คนต่อครอบครัว จึงไม่มีความต้องการบ้านเดี่ยวพื้นที่มาก จึงเสนอให้ปรับข้อกำหนดในประเด็นนี้

ต้านผังเมืองรวม ไม่เอื้อพัฒนาอสังหาฯ

ประการต่อมาเป็นเรื่องของพื้นที่ริมแหล่งนํ้า อาทิ อ่างเก็บนํ้า ห้ามกระทำการก่อสร้างใดๆ ในระยะ 500 เมตร แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันเมืองส่วนใหญ่จะอยู่รอบแหล่งนํ้า ทะเลสาบ รอบอ่างเก็บนํ้า ข้อกำหนดควรไปดำเนินการให้เข้มด้านการบำบัดนํ้าเสียอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางนํ้าจะดีกว่าและเป็นทางออกที่ถูกต้องกว่ามากำหนดเรื่องการก่อสร้างอาคาร ทั้งๆที่พื้นที่เอื้อต่อการพัฒนาให้ทันสมัยได้ แต่กลับไม่สนองตอบต่อการพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่ แล้วใช้เทคโนโลยีเข้าไปบริหารจัดการแทน

“ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น ได้ถามผู้บริหารระดับสูงของกรมโยธาธิการและผังเมือง แต่กลับได้รับคำตอบเหมือนไม่เข้าใจ และชี้แจงไม่แม่นยำในประเด็นที่สอบถามโดยเฉพาะผังพื้นที่สีเหลือง ซึ่งระบุว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชนบทให้พัฒนาที่อยู่อาศัยได้เฉพาะบ้านเดี่ยว จึงเป็นข้อจำกัดเรื่องการใช้พื้นที่ เป็นต้น” 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 39 ฉบับ 3,479 วันที่ 16-19 มิถุนายน 2562

ต้านผังเมืองรวม ไม่เอื้อพัฒนาอสังหาฯ