ไทย-จีน ผนึกความแข็งแกร่ง ดึงอีอีซีเชื่อมโยง GBA ประตูสู่เอเชีย

11 มิ.ย. 2562 | 11:51 น.

ทัพนักลงทุนไทย – จีนกว่า 1 พันราย ร่วมประชุม “China (Guangdong) – Thailand Economic and Trade Cooperation Conference มีนายหลี่ ซี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลกวางตุ้ง และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ  แนวทางการพัฒนาโครงการอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong -Hongkong-Macao Greater Bay Area: GBA) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (BRI) และความร่วมมือระหว่างไทย - มณฑลกวางตุ้ง ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยง GBA กับ EEC เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่

 

นายหลี่ ซี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า “กวางตุ้งเป็นมณฑลที่มีศักยภาพสูงในประเทศจีน มี GDP ที่เติบโตต่อเนื่องซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีเศรษฐกิจและนวัตกรรมที่ทันสมัย และกวางตุ้งยังเป็นเมืองแนวหน้าในการเปิดประเทศของจีนซึ่งเชื่อมโยงกับ GBA โดยมีข้อคิดเห็นทางด้านความร่วมมือ 5 ข้อ ได้แก่

 

1.นโยบายความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เชิงลึกกับกวางตุ้ง GBA ASEAN และ EEC 2. ขยายการลงทุนซึ่งกันและกัน โดยปัจจุบันมี 123 บริษัทในจีนได้เข้ามาลงทุนในไทย และพื้นที่ EEC เช่น หัวเว่ย พีซีแอล และหวังว่าในอนาคตจะมีอีกหลายโครงการการลงทุนระหว่างกัน 3. ยกระดับการค้าระหว่างกวางตุ้งและไทย โดยกวางตุ้งนิยมสินค้าเกษตร และประมงในไทย ในขณะที่ทางกวางตุ้งส่งออกสินค้าเรื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือนมายังประเทศไทย 4. ส่งเสริมและยกระดับการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าด้านเกษตรและประมง 5.ส่งเสริมความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวระหว่างนักท่องเที่ยวกวางตุ้งและไทย


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของคณะรัฐบาลและนักธุรกิจกวางตุ้งจำนวน 200 คน ครั้งนี้เป็นคณะใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา และเป็นการเดินทางเยือนอาเซียนโดยเลือกจุดมุ่งหมายมาที่ประเทศไทยเป็นที่แรก สะท้อนถึงการให้เกียรติและความแน่นแฟ้นระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย กวางตุ้งเป็นมณฑลที่มี GDP สูงที่สุดในประเทศจีนมาตลอด 30 ปี ความเชื่อมโยงของมณฑลกวางตุ้ง GBA BRI และไทย จะเชื่อมโยงกับในภูมิภาคด้วย และไม่ใช่การค้าการลงทุน แต่เป็นการเชื่อมโยงไปถึงยุทธศาสตร์เชิงลึก ประเทศไทยกับจีนจะสามารถเกาะเกี่ยวกันได้ผ่าน EEC และจะมีเส้นทางการเชื่อมโยงทางรางจาก EEC ไปถึงอันดามัน พื้นที่ในการพัฒนาจึงขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันวิกฤติทางการค้าที่เกิดขึ้นในโลกขณะนี้ จะเป็นโอกาสสำหรับเอเชียขึ้นมาด้วยเช่นกัน ทำให้เอเชียได้สามัคคีกัน ร่วมมือกัน เกื้อกูลกัน และร่วมพัฒนาไปพร้อมกัน

ไทย-จีน ผนึกความแข็งแกร่ง ดึงอีอีซีเชื่อมโยง GBA ประตูสู่เอเชีย

 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวในหัวข้อ Invest in Thailand and Eastern Economic Corridor and Industrial Parks Forum ว่า ประเทศจีนมี GBA เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุน BRI ส่วนประเทศไทยมี EEC เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” และนโยบายของไทยในการส่งเสริมความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคใกล้เคียง ดังนั้น การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่าง EEC กับมณฑลกวางตุ้งและเขต GBA จะยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดย EEC ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อ 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง หรือประเทศไทยเท่านั้น แต่ถูกกำหนดให้เป็นจุดเชื่อมโยงเข้าสู่การพัฒนา CLMVT และ BRI อีกด้วย

นายคณิศ แสงสุพรรณ

โครงการหลักใน EEC ประกอบด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม การพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมผ่านการพัฒนาเมือง และการยกระดับเมืองเดิม  การสร้างเมืองใหม่แบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และด้านการท่องเที่ยว จะช่วยเชื่อมโยงภายในภูมิภาคได้ทั้ง ASEAN, CLMV, GMS และ ACMECS

 

ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 5 ปี การลงทุนในพื้นที่ EEC จะสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3 แสนล้านหยวน คิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 120,000 ล้านหยวน และที่เหลือเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมและเมืองอัจฉริยะ โดย EEC จะเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบในการสร้างฐานเพื่อเชื่อมโยงไทย และภูมิภาคทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง ในรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ในขณะที่ GBA สามารถเป็นประตูการค้าและการลงทุนให้กับไทยในจีนโดยความเชื่อมโยงนี้ยังสนับสนุน BRI ของจีนอีกด้วย


ไทย-จีน ผนึกความแข็งแกร่ง ดึงอีอีซีเชื่อมโยง GBA ประตูสู่เอเชีย