‘ทูน่าไทย’ลุ้น ส่งออกแสนล้าน อานิสงส์ศึกค้าโลก-พ้นใบเหลือง IUU

27 พ.ค. 2562 | 04:45 น.

 

 

จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่กดปุ่มขึ้นภาษีสินค้านำเข้าตอบโต้กันจาก 10% เป็น 25% ครั้งล่าสุด ครอบคลุมสินค้าฝ่ายละกว่า 5,000 รายการสร้างแรงกระเพื่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวอยู่แล้วมีแนวโน้มดำดิ่งลงไปอีก เห็นได้จากการส่งออกของไทยช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ยังติดลบ 1.9% (มีมูลค่า 18,555 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตํ่าสุดในรอบ 24 เดือน) อย่างไรก็ดีท่ามกลางวิกฤตินี้ในสินค้าทูน่าที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเบอร์ 1 ของโลกกลับสวนกระแส โดยมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ตลาดแอฟริกา-ลาตินอเมริกาโต

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 3 เดือน หรือไตรมาสแรกปี 2562 ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า(ทูน่ากระป๋อง ทูน่าเพาซ์ ทูน่าลอยด์ สัดส่วนรวม 77%), ผลิตภัณฑ์ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรลและอาหารสัตว์เลี้ยงทำจากปลา(สัดส่วนรวม 23%) ปริมาณ 175,000 ตัน เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการส่งออกรูปเงินบาทมีมูลค่า 22,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%

‘ทูน่าไทย’ลุ้น  ส่งออกแสนล้าน  อานิสงส์ศึกค้าโลก-พ้นใบเหลือง IUU

                                                                            ชนินทร์  ชลิศราพงศ์

“ตัวเลขส่งออกทั้งเชิงปริมาณ และมูลค่าที่ขยายตัวได้ระดับ 10-14% ในไตรมาสแรกถือเป็นที่น่าพอใจ เพราะจริงๆ เรากะไว้ประมาณ 5% บวก/ลบก็ดีใจแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ ณ ปัจจุบันที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อของโลกในภาพรวมไม่ค่อยดี จากผลพวงสงครามการค้า รวมถึงเงินบาทของไทยที่แข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นของประเทศคู่แข่งทั้งจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซียที่ส่วนใหญ่ค่าเงินอ่อนค่ามากกว่าไทย ทำให้เราเสียเปรียบในการแข่งขัน”

สำหรับการส่งออกผลิต ภัณฑ์ทูน่ารายตลาดช่วงไตรมาสแรก ตลาดสำคัญคือ สหรัฐฯ ด้านปริมาณและมูลค่า ติดลบที่ -8% และ -7% ตามลำดับ, ตลาดสหภาพยุโรป(อียู) -25% และ -31%, ตลาดญี่ปุ่น -10% และ -10% ขณะที่ตลาดตะวันออกกลาง +24% และ +18%, ตลาดแอฟริกา +75% และ +71%, ตลาดออสเตรเลียและโอเชียเนีย +8% และ -12%, ตลาดลาตินอเมริกา +13% และ +18% และตลาดอื่นๆ -11% และ -16% ตามลำดับ

“ค่อนข้างชัดว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มกำลังซื้อถดถอย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น ขณะที่การส่งออกกลับไปเพิ่มขึ้นมากที่ตลาดตะวันออกกลาง และตลาดอีเมอร์จิ้งมาร์เก็ตคือแอฟริกา ซึ่งปีนี้เป็นดาวรุ่ง 3 เดือนแรกมูลค่าโตถึง 75% และลาตินอเมริกาโต 13% ในส่วนของตลาดแอฟริกาที่โตมากอาจเป็นผลจากจำนวนประชากรที่มากขึ้น และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในทวีปแอฟริกาขยายตัวดีขึ้น สอดคล้องกับสัดส่วนการส่งออกทูน่าของไทยเวลานี้ 60% อยู่ในตลาดเกิดใหม่หรือประเทศกำลังพัฒนา และอีก 40% เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว”

 

 

 

ลุ้นส่งออกแสนล้าน

นายชนินทร์ ยังคาดการณ์ ส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า และผลิต ภัณฑ์ปลาทุกชนิดของไทยช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ เชิงปริมาณคาดจะขยายตัวได้ 5-10% แต่ด้านมูลค่าอาจจะไม่โตมากนัก เนื่องจากสถานการณ์ราคาวัตถุ ดิบปลาทูน่านำเข้ามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากซัพพลายมีมาก โดย ณ ปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 1,400-1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (มีการนำเข้าทั้งปี 8.5 แสนตัน) ทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าส่งออกลดลงตามต้นทุน อย่างไรก็ดีคาดทั้งปีนี้ผู้ส่งออกทูน่าจะรักษากำไรสุทธิจากการขายต่อหน่วยได้ประมาณ 5% บวก/ลบ ถือยังมีกำไรที่ดีทุกบริษัท

‘ทูน่าไทย’ลุ้น  ส่งออกแสนล้าน  อานิสงส์ศึกค้าโลก-พ้นใบเหลือง IUU

สำหรับการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ คาดไตรมาส 2-3 ของปีนี้จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นเพราะปกติจะเป็นช่วงไฮซีซันของการนำเข้า ส่วนตลาดอียูคาดจะยังทรงๆ เพราะไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึง 24% มาหลายปีแล้ว ขณะที่ผู้ส่งออกจะรุกตลาดแอฟริกา และลาตินอเมริกาที่กำลังเติบโตให้มากขึ้น

 

 

ส่วนเรื่องสงครามการค้าที่สหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น25% จากเดิมสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ทูน่าจากจีนอัตรา 12% ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 37% จะเป็นโอกาสส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า และผลิตภัณฑ์ปลาทุกชนิดของไทยไปสหรัฐฯ และจีนได้เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ จากการนำเข้าสินค้าระหว่างกันของสหรัฐฯและจีนต้องเสียภาษีสูงขึ้นถึง 25% ซึ่งจะทำให้ทั้งสหรัฐฯและจีนสนใจที่จะมาสั่งซื้อสินค้าอาหารทะเลที่ไทยเป็นซีฟู้ด ฮับ ที่สำคัญของโลกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้การที่ไทยได้รับการปลดใบเหลืองไอยูยู ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศดีขึ้น และจะขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น

“คาดทั้งปีนี้ไทยจะมีการนำเข้าวัตถุดิบทูน่า 8.5-9 แสนตันและจะมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าและผลิตภัณฑ์ปลาทุกชนิดประมาณ 9.5 หมื่นล้านบาท(จากปีที่แล้วส่งออก 9.1 หมื่นล้านบาท) จากเดิมคาดหมายไว้ปีนี้จะส่งออกได้แตะ 1 แสนล้านบาท ที่อาจไม่ถึงเพราะราคาปลาและราคาสินค้าลดลง และเงินบาทแข็งค่าทำให้รายรับรูปเงินบาทไม่เพิ่มมาก ปัจจุบันตลาดทูน่ากระป๋องของโลกมีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาด 20%” 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,473 วันที่ 26-29 พฤษภาคม 2562

‘ทูน่าไทย’ลุ้น  ส่งออกแสนล้าน  อานิสงส์ศึกค้าโลก-พ้นใบเหลือง IUU