บอร์ดกทพ.ไฟเขียวขยายสัมปทานทางด่วน30ปีแลกยุติค่าโง่ภาค2

15 พ.ค. 2562 | 08:45 น.

บอร์ดกทพ.ไฟเขียวขยายสัญญาให้อีก 30 ปีเพื่อยุติข้อพิพาทตามสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2(ทางด่วนศรีรัชรวมถึงส่วน D) –ด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด(ทางพิเศษอุดรรัถยา) เร่งชงครม.เห็นชอบต่อสัญญา ด้านสหภาพกทพ.จี้ติดการลงบัญชี

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ(บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดครั้งที่ 6/2562 ว่าทางคณะกรรมการมีมติอนุมัติข้อเสนอของอนุกรรมการให้มีการพิจารณาที่จะขยายสัญญาสัมปทาน ให้บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือBEM โครงการทางด่วนขั้นที่ 2(ทางด่วนศรีรัช รวมถึงส่วน D) และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด(ทางพิเศษอุดรรัถยา) สัญญาละ 30 ปี ตามระยะเวลาของแต่ละโครงการที่กำหนดไว้ โดยในครั้งนี้จะเห็นภาพชัดเจนว่าไม่มีการกำหนดเรื่องของการแข่งขันอีกต่อไป พร้อมกับจะมีการปรับลดอัตราค่าผ่านทางในบางด่าน

 อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้บอร์ดเห็นว่าเป็นการเจรจาที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ในปัจจุบัน พร้อมกับสามารถระงับปัญหาข้อพิพาททั้งหมด ไม่มีภาระข้อพิพาทและภาระหนี้ต่อกันอีก ส่วนภาระหนี้ที่ได้ถูกบันทึกไว้แล้วนั้นจะมีกระบวนการปรับหนี้คืนต่อไป โดยหลังจากนี้กทพ.จะสามารถขับเคลื่อนโครงการต่างๆได้ตามปกติ เงื่อนไขการรับรู้รายได้เป็นไปตามปกติ จะเดินหน้าโครงการที่มีความจำเป็นตามแผนต่อไป

“ยืนยันเซตซีโร่พร้อมกันนั้นไม่มีแล้ว ปรับเป็นครบสัญญาไหนก็ต่อสัญญานั้นๆไปอีก 30 ปี ส่งผลให้มูลค่าข้อพิพาทลดเหลือ 5.6 หมื่นล้านบาท หรือลดลงประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยงบก้อนโตจำนวน 1.3 แสนล้านบาทนั้นเป็นกรณีรวมของข้อพิพาททั้งหมด ปัจจุบันภาระเรื่องดอกเบี้ยยังเดินหน้าต่อเนื่อง ประการสำคัญภาระเงินจำนวน 4,300 ล้านบาทบวกดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาจะถูกล้างหนี้ไปทั้งหมด ข้อห่วงใยของพนักงานคือการบันทึกภาระหนี้ซึ่งจะต้องไปเคลียร์กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ให้ชัดเจนต่อไปว่าจะไม่มีการบันทึกหนี้ต่อกันให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ส่วนอำนาจอนุมัติให้ดำเนินการต่อไปอย่างไรหรือไม่นั้นต้องรอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติจะชัดเจนกว่า”

 

 

 

ด้านนายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฏหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำการแทนผู้ว่าการกทพ. กล่าวว่า การทำความเข้าใจพนักงานกทพ.ได้เรียนทุกคนว่ากรณีดังกล่าวนี้จะต้องไม่กระทบสิทธิประโยชน์ของพนักงาน เป็นหลักการพิจารณาในครั้งนี้ โดยกทพ.จะเร่งหาคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแจ้งให้พนักงานทราบความชัดเจนต่อไป โดยเบื้องต้นนั้นบนหลักการของคณะกรรมการฝ่ายจัดการหากกระทบต่อสิทธิพนักงานที่ลดลงจะต้องนำพิจารณาใหม่ ส่วนการบริหารจัดการที่เกิดจากกรณีผลกระทบทางธุรกิจในภายหน้าจะต้องไม่เกิดจากการกระทำของมติที่ประชุมของบอร์ดกทพ.ในวันนี้

 

“ในครั้งนี้เรียกว่าเป็นการแก้ไขสัญญา สัญญาเดิมขณะนี้ยังบังคับใช้อยู่ เดินหน้าไปจนครบอายุสัญญา เพียงแต่มีการแก้ไขสัญญาเดิมออกไปตามกรอบที่ตกลงกันเท่านั้น โดยกรณีสัญญาดังกล่าวนี้จะต้องผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.)และจะลงนามสัญญาเมื่อครม.อนุมัติแล้ว ทั้งนี้ในเชิงการเจรจาจะไม่ได้โฟกัสไปที่คดีใดคดีหนึ่งแต่จะเน้นไปที่การเจรจาจะต้องไม่มีข้อพิพาทต่อกันอีก ดังนั้นจะมีกี่คดีที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่มีอีกแล้ว”

 

สำหรับสิทธิของการได้รับการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนนั้นขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าไม่ได้รับสิทธินั้นแล้ว เนื่องจากภาคเอกชนเห็นว่ามีผลกระทบด้านการดูแลบำรุงรักษา โดยในข้อตกลงนั้นภาคเอกชนจะต้องดำเนินการภายใต้ข้อกำหนดในเงื่อนไข 4 ข้อ คือ 1. จะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน 2.จะต้องเยียวยาประชาชนรอบข้างที่จะมีการพัฒนา 3.ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กทพ.กำหนดไว้ 4.จะต้องพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบบริการสาธารณะ อาทิ สวนสาธารณะ ลานกีฬา เป็นต้น

 

นายบัณฑิต พรึงลำภู เลขานุการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกทพ. (สร.กทพ.)กล่าวว่า ยังให้ความสำคัญและติดตามกรณีประเด็นที่สร.กทพ.เสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทและดำเนินงานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน เอ บี ซี และส่วน ดี) และการแก้ไขสัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทและดำเนินโครงการระบบทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด(ซีบวก) ทั้ง 3 ฉบับเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ซึ่งในสัญญาต้องไม่ให้สิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่เขตทางกับเอกชน ก่อนที่กทพ.จะนำเสนอให้คณะกรรมการกำกับโครงการพิจารณา

“ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นสร.กทพ.ขอคัดค้านการขยายระยะเวลาสัมปทานและการดำเนินงานที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องต่างๆโดยเฉพาะเรื่องการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีที่ทำให้กทพ.เสียหาย ดังนั้นในกรณีการลงบัญชีจึงขอให้กทพ.รอคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความชัดเจนตามมาตรฐานการบัญชี วันสิ้นสุดสัญญาส่วน D ขอให้กทพ.รอคำตอบจากอสส.ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ”