นักวิชาการจุฬาฯฟันธง โรคเลื่อนรุมเมกะโปรเจ็กต์รัฐ9แสนล้าน

31 มี.ค. 2562 | 09:30 น.

นักวิชาการจุฬาฯชี้สถานการณ์หลังเลือกตั้งปี 2562 ยังคุกรุ่น ฟันธงมีผลกระทบแผนพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์รัฐ แนะจับตาปมปัญหาลดความเชื่อมั่นนักลงทุนชี้รวมมูลค่าโครงการกว่า 9 แสนล้านบาทอาจเลื่อนไม่มีกำหนด ฝากข้อคิดรัฐบาลใหม่เร่งขยายลงทุนสู่หัวเมืองใหญ่มากขึ้น

จากการเลือกตั้งครั้งใหญ่ประจำปี 2562 แม้ว่าจะแล้วเสร็จแต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าการตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้ในเร็วๆนี้หรือไม่ อีกทั้งยังคงจับตาสถานการณ์ทางการเมืองที่จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทั้งการเลื่อนโครงการออกไปอย่างไม่มีกำหนด ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศเนื่องจากความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล นายมานพ พงศทัต ศาสตราภิชานประจำภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรม ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเบื้องต้นจะพบว่าโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐโดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่งเริ่มแสดงภาพออกมาให้เห็นแล้วว่าจำเป็นต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่เคาะความชัดเจนทั้งมอเตอร์เวย์ ทางด่วน รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 9 แสนล้านบาทซึ่งหลายโครงการจำเป็นต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน แต่ด้วยความไม่ชัดเจนทางการเมืองจึงจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ

นักวิชาการจุฬาฯฟันธง โรคเลื่อนรุมเมกะโปรเจ็กต์รัฐ9แสนล้าน

มองว่าเลือกตั้งครั้งนี้คงยืดเยื้อดังนั้นภาพการจัดตั้งรัฐบาลคงต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนแล้วยังใช้เวลาอีก 2-3 เดือนในการฟอร์มนโยบายรัฐบาล หรืออาจต้องใช้ระยะเวลา 1-2 ปีและการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง แย่งชิงกระทรวงหลักอย่าง กระทรวงการคลัง คมนาคม พาณิชย์ กลาโหม มหาดไทย อุตสาหกรรม เป็นต้น

“นี่ยังไม่เห็นปัจจัยลบอื่นๆที่จะเกิดผลตามมาอีก ประการสำคัญพรรคเพื่อไทยแสดงความชัดเจนไม่เอาอีอีซีจึงมีแนวโน้มสูงที่จะเข้ามารื้อโครงการ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการสะดุดด้านการลงทุนของภาคเอกชนเกิดขึ้นแน่หลังจากนี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือรถไฟเชื่อม 3 สนามบินทราบว่าฝ่ายจีนขอยืดการให้คำตอบออกไปอีกเป็นต้นเมษายนนี้ แนวโน้มที่จะล้มโครงการจึงมีโอกาสเกิดขึ้นทุกเมื่อ”

ทั้งนี้โครงการร่วมลงทุนน่าจับตามากที่สุดมีแนวโน้มนักลงทุนต่างชาติขอชะลอการลงทุนออกไปดังนั้นหากดีเลย์แล้วจะทำอย่างไรกันต่อไป จะใส่เกียร์เดินหน้าหรือถอยหลังผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองข้ามประเด็นนี้ สถาบันการเงินจะเข้ามาเข้มงวดอย่างไรบ้าง

“แนวทางหนึ่งคือรัฐควรเร่งให้เกิดการซื้อขายภายในประเทศ มากขึ้น แม้ว่าหลายประเทศจะสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นก็ตาม ภาคธุรกิจอาหาร สมุนไพร ยารักษาโรคยังมีความสำคัญในประเทศมากกว่าการเน้นเพื่อ การส่งออกเท่านั้น อย่าทุ่มลงทุนจำนวนมาก ควรมองเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าหรือไม่ งานท่องเที่ยวและบริการยังเป็นหัวใจหลักของภาคธุรกิจของไทย”

นอกจากนั้นอยากให้รัฐบาล ใหม่ไม่ควรฝากความหวังกับการลงทุนขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพฯเท่านั้น ควรเร่งขยายการลงทุนออกไปสู่หัวเมืองหลักหรือเมืองขนาดใหญ่มากขึ้นเพื่อกระจายความเจริญและสร้างการกระตุ้น ทางเศรษฐกิจออกไปให้มากที่สุด แนวทางหนึ่งคือการเร่งลงทุนระบบ ขนส่งมวลชนเพื่อกระตุ้นการลง ทุนรูปแบบอื่นๆ อาทิ การพัฒนาเมืองตามมา ไม่ว่าจะเป็น ขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี ภูเก็ต ระยอง เริ่มเห็นภาพความชัดเจนมากขึ้นทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรอง เมืองสีเขียว และการร่างกฎบัตรเมืองเพื่อเบิกทางและจุดประกายความร่วมมือของทุนท้องถิ่นเป็นการนำร่อง 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3457 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 3 เมษายน 2562

นักวิชาการจุฬาฯฟันธง โรคเลื่อนรุมเมกะโปรเจ็กต์รัฐ9แสนล้าน