ตัด GSP "อินเดีย-ตุรกี" 5 พันล้านดอลล์ เพิ่มโอกาสและความเสี่ยงส่งออกไทย

12 มี.ค. 2562 | 10:28 น.

พาณิชย์เล็งใช้โอกาสสหรัฐฯ ตัดสิทธิจีเอสพีอินเดีย-ตุรกี มูลค่ารวมกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ดันส่งออกสินค้าไทยทดแทนในตลาดสหรัฐฯ เพิ่ม อีกด้านไทยติดโผ 7 ประเทศ มะกันทบทวนให้สิทธิจีเอสพีทราบผลสิ้น มี.ค. นี้

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ที่สหรัฐอเมริกาเตรียมตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ให้กับอินเดียและตุรกี โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับประเทศต่าง ๆ ภายใต้โครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย ทั้งระดับการพัฒนาของประเทศ การเปิดตลาดสินค้าและบริการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การกำหนดนโยบายด้านการลงทุนที่ชัดเจน ตลอดจนการสนับสนุนการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งอินเดีย ตุรกี รวมทั้งไทย อยู่ในกลุ่มที่ได้รับสิทธิ GSP ดังกล่าว และสหรัฐฯ มีการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิ GSP เป็นประจำทุกปี
 

ตัด GSP "อินเดีย-ตุรกี" 5 พันล้านดอลล์ เพิ่มโอกาสและความเสี่ยงส่งออกไทย


ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2562 ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้ยื่นจดหมายต่อสภาคองเกรสแห่งสหรัฐฯ และแจ้งต่ออินเดียและตุรกี ว่า จะระงับการให้สิทธิ GSP แก่อินเดียและตุรกี โดยให้เหตุผลว่า อินเดียไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเปิดตลาด โดยไม่สามารถรับรองได้ว่า สหรัฐฯ จะสามารถเข้าถึงตลาดสินค้าและบริการในอินเดียได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงมีการออกมาตรการกีดกันทางการค้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลเชิงลบต่อการค้าของสหรัฐฯ ส่วนตุรกีนั้นมีระดับการพัฒนาประเทศที่สูงขึ้นแล้ว คือ มีรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per Capita) ที่สูงขึ้น อัตราความยากจนลดลงและสามารถขยายตลาดส่งออกที่หลากหลาย ทั้งนี้ กระบวนการตัดสิทธิ GSP ของอินเดียและตุรกี จะใช้เวลาดำเนินการอย่างน้อย 60 วัน และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นเดือน พ.ค. 2562 โดยการออกประกาศประธานาธิบดี (Presidential Proclamation)
 

ตัด GSP "อินเดีย-ตุรกี" 5 พันล้านดอลล์ เพิ่มโอกาสและความเสี่ยงส่งออกไทย

สนค. ได้มีการประเมินเรื่องดังกล่าว ว่า ตุรกีน่าจะได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP มากกว่าอินเดีย เนื่องจากพึ่งพา GSP ในการส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่า โดยตุรกีส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP คิดเป็น 17.42% ของการส่งออกรวมไปสหรัฐฯ ในขณะที่ อินเดียส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP คิดเป็น 11.59% ของการส่งออกรวมไปสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การตัดสิทธิ GSP อินเดียและตุรกี จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าของทั้ง 2 ประเทศ ในระดับจำกัด เนื่องจากการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1-2% ของการส่งออกรวมของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ ค่าเงินที่อ่อนค่าจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP โดยสินค้าจากอินเดียและตุรกีจะถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4.45% (อ้างอิงจากอัตรา MFN rate ของสหรัฐฯ ปี 2560) ในขณะที่ ค่าเงินรูปีมีแนวโน้มอ่อนค่าลง 8.6% และเงินลีราของตุรกีมีแนวโน้มอ่อนค่าจากช่วงเดียวกันปีก่อน 40.6% ดังนั้น อินเดียและตุรกีจึงน่าจะรักษาความสามารถทางการแข่งขันและระดับการส่งออกในตลาดสหรัฐฯ ไว้ได้
 

"การที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP อินเดียและตุรกี จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและความต้องการสินค้าไทย นอกจากนี้ การส่งออกไปอินเดียและตุรกีคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนัก เพียง 3.01% และ 0.43% ของการส่งออกรวมของไทยในปี 2561"

ทั้งนี้ สนค. คาดว่า อินเดียและตุรกีอาจเร่งส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. 2562 ก่อนที่การตัดสิทธิ GSP จะมีผลบังคับใช้ และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าว ไทยอาจมีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าที่อินเดียและตุรกีถูกตัดสิทธิ GSP รวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์ (HS8708) อัญมณี (HS7113) หินเพื่อการก่อสร้าง (HS6802) อุปกรณ์/ของใช้ในครัวทำด้วยโลหะ (HS7323) ก๊อก/วาล์วสำหรับใช้กับหลอดหรือท่อ (HS8481) อุปกรณ์ติดตั้งของหลอดหรือท่อ เช่น ข้อต่อ ข้องอ ปลอกเลื่อน ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า (HS7307) ตะกั่วที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) (HS7801)

 

ตัด GSP "อินเดีย-ตุรกี" 5 พันล้านดอลล์ เพิ่มโอกาสและความเสี่ยงส่งออกไทย

อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะขยายการใช้มาตรการทางการค้าฝ่ายเดียว (Unilateralism) ไปยังประเทศอื่น ๆ อีก ซึ่งขณะนี้ สหรัฐฯ กำลังพิจารณาทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางศุลภากรภายใต้โครงการ GSP รายประเทศ (Country Practice Review) กับประเทศโบลิเวีย เอกวาดอร์ จอร์เจีย อินโดนีเซีย ไทย อิรัก และอุซเบกิสถาน และคาดว่าจะประกาศผลการพิจารณาภายในเดือน มี.ค. 2562

ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP สหรัฐฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย ไทย บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจและเฝ้าติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งคณะทำงานฝ่ายไทย-สหรัฐฯ ได้มีการหารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขร่วมกันในประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ

ตัด GSP "อินเดีย-ตุรกี" 5 พันล้านดอลล์ เพิ่มโอกาสและความเสี่ยงส่งออกไทย