บูมตลาดอุตฯหุ่นยนต์ไทย แตะ5แสนล้านภายใน3ปี

09 มี.ค. 2562 | 06:47 น.

บูมตลาดอุตฯหุ่นยนต์ไทยแตะ 5 แสนล้านบาทภายใน 3 ปี เผยยอดขอลงทุนบีโอไอกว่า 50% หรือราว 3 แสนล้านบาทเป็นภาคหุ่นยนต์และออโตเมชั่น ชงครม.ปลดล็อคเงื่อนไขดึงต่างชาติลงทุน จีน ญี่ปุ่น แสดงความสนใจ  คนต่างจังหวัดเฮได้ใช้ 5G ก่อนคนเมือง ปักหมุดอีอีซี-สมาร์ทซิตี้เมืองใหญ่เป็นพื้นที่นำร่อง


นายชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(FIBO) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และ ระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม (Factory Automation) ถือเป็นกลุ่มนิวเอสเคิร์ฟที่สามารถสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเกี่ยวโยงเกือบจทุกภาคส่วนธุรกิจที่ต้องการนำเทคโนโลยี ระบบบิ๊กดาต้า และนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาบริหารรวมถึงลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าภายใน 3 ปีนับจากนี้ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์และออโตเมชั่นในไทยจะอยู่ที่ 4-5 แสนล้านบาท ขณะที่ด้านฝั่งซัพพลายคาดว่าจะมีการลงทุนรวมทั้งสิ้น 2-3 หมื่นล้านบาทจากกลุ่มทุนต่างประเทศขนาดใหญ่โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี

อย่างไรก็ตามจากการเปิดเผยตัวเลขขอรับการลงทุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นั้นมีการขอลงทุนทั้งสิ้นราว 6.78 แสนล้านบาท พบว่ามากกว่า 50% หรือราว 3.37 แสนล้านบาทมีเป้าหมายที่จะลงทุนเกี่ยวกับหุ่นยนต์และออโตเมชั่น สอดคล้องกับรายงานของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ(IFR) ระบุว่าภายในปี 2562 ตลาดหุ่นยนต์และออโตเมชั่นจะขยายตัวถึง 19% ถือเป็นอัตราเติบโตอันดับหนึ่งของอาเซียนและเป็นอันดับ 4 ของโลก

บูมตลาดอุตฯหุ่นยนต์ไทย แตะ5แสนล้านภายใน3ปี

นายชิตกล่าวต่อว่าดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือทีเส็บ เพื่อจัดมหกรรมส่งเสริมตลาดในปีนี้ อาทิ Intermach, Automation Expoและmetalex เป็นต้น ตลอดจนได้ยื่นโครงเรื่องและผลศึกษาเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ขออนุมัติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศและผลิตบุคลากรรองรับไม่ต่ำกว่า 15,000 คน พร้อมเงื่อนไขต้องอุดหนุนวัตถุดิบและผลิตในประเทศไม่ต่ำกว่า 30% เพื่อแลกกับสิทธิการยกเว้นภาษีการลงทุน 3 ปี และข้อเสนออื่นๆ เชื่อว่าหากได้รับอนุมัติแล้วจะทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศสดใส


ทั้งนี้เมื่อดูจากรายได้ของผู้ประกอบการรายย่อยในกลุ่มงานพัฒนาระบบและไอที(System Integration) พบว่าปีที่ผ่านมามีรายได้ขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% และตามแผนดังกล่าวต้องการผลิตผู้ประกอบการในประเภทนี้ให้ได้ 1,500 รายจากปัจจุบันมี 40 ราย ส่วนการพัฒนาบุคลากรนั้นรัฐบาบต้องกานให้สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 10 แห่งร่วมกันก่อตั้งสถาบันการศึกษาหุ่นยนต์เพื่อผลิตบุคลากรรองรับตลาดเติบโต เบื้องต้นตั้งเป้าหยุดมูลค่าการขาดดุลทางการค้าของการนำเข้าและส่งออกอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ซึ่งขาดดุลอยู่ปีละ 2 แสนล้านบาท


"หุ่นยนต์ 1 ตัวแทนแรงงานได้ 2 คน แถมทำงานได้ทั้งวันทั้งคืนอีกด้วย ผู้ประกอบการจะคืนทุนภายใน 18 เดือนหากเลิกจ้างคนแล้วหันมาใช้หุ่นยนต์ทำงานแทน" นายชิตกล่าว

บูมตลาดอุตฯหุ่นยนต์ไทย แตะ5แสนล้านภายใน3ปี

นายชิตกล่าวอีกว่าสำหรับความสนใจจากนักลงทุนนั้นพื้นที่อีอีซีมีบริษัทรายใหญ่มาสอบถามแสดงความสนใจลงทุนจำนวนมาก บางรายขอพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่เพื่อพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ขณะนี้มียื่นเข้ามาแล้ว 7-8 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนจากจีนและญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นเจ้าตลาดโลกด้านหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นอยู่แล้ว คาดว่าหลังจากได้ตัวรัฐบาลใหม่จะได้เห็นการเข้าขอลงทุนอีกจำนวนมากในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต 5G ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ รัฐบาลต้องการให้เริ่มใช้ 5G ในหัวเมืองรองก่อนที่จะเป็นกรุงเทพมหาครเพราะต้องทดสอบความเสถียรให้แน่นอนเสียก่อน
 

“เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มได้ในพื้นที่อีอีซีซึ่งถือว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและมีโรงงานจำนวนมาก ต่อมาคงเลือกพื้นที่สมาร์ทซิตี้เช่น ภูเก็ต เมืองการบินอู่ตะเภาและเชียงใหม่เป็นต้น และยังถือว่าเป็นครั้งแรกที่ไยจะได้เริ่มพัฒนา 5G และทดลองใช้ไปพร้อมกันกับประเทศอื่นทั่วโลก”

บูมตลาดอุตฯหุ่นยนต์ไทย แตะ5แสนล้านภายใน3ปี

ด้านนางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโส ทีเส็บ สายงานธุรกิจ กล่าวว่าทีเส็บพร้อมสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าในไทยที่รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งไทยมีรากฐสานเป็นผู้จัดงานแสดงสินค้าที่เข้มแข็ง จึงมีความพร้อมยกระดับไปสู่การจัดแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในวงกว้างมากขึ้น

บูมตลาดอุตฯหุ่นยนต์ไทย แตะ5แสนล้านภายใน3ปี

“ทีเส็บจะร่วมผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แบรนด์ใหม่ของทีเส็บ Thailand Redefine Your Business Events ผู้ร่วมแรง ผู้ร่วมสร้าง ผู้ร่วมมือ ผู้ร่วมคิด  โดยริเริ่มแคมเปญ ‘360 องศา’ เพื่อดันไทยเป็นศูนย์กลางของงานแสดงสินค้าด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของภูมิภาคอาเซียน” ปัจจุบันประเทศไทยมีงานแสดงสินค้าด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อย่างน้อย 5 ราย มีพื้นที่ใช้งาน (net space) รวมกัน 9 หมื่นตารางเมตร และล้วนเป็นงานระดับภูมิภาคอาเซียนที่มุ่งตอบสนองตลาดในภูมิภาคนี้”

บูมตลาดอุตฯหุ่นยนต์ไทย แตะ5แสนล้านภายใน3ปี