"เทรดวอร์" ทุบส่งออก "อัญมณี" ยอด ม.ค. วูบ 16%

07 มี.ค. 2562 | 08:53 น.

ส่งออก "อัญมณีและเครื่องประดับ" เดือน ม.ค. 2562 มีมูลค่า 807 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 16.56% หากหักทองคำที่มีความผันผวนออก เพิ่มขึ้น 3.50% เผย ตลาดอียูพลิกกลับมาเป็นตลาดอันดับ 1 เพิ่ม 16.38% ตะวันออกกลาง-อาเซียนก็โตแรง แต่ฮ่องกง-จีนลดลง เหตุได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แนะผู้ส่งออกเพิ่มช่องทางออนไลน์และผลิตสินค้าตามเทรนด์โลก เพื่อเพิ่มโอกาสส่งออก
 

"เทรดวอร์" ทุบส่งออก "อัญมณี" ยอด ม.ค. วูบ 16%


นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เดือน ม.ค. 2562 มีมูลค่า 807 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 16.56% แต่หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 504 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.50%

"การส่งออกที่ลดลงมาจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ซึ่งมีสัดส่วนถึง 37.49% ของการส่งออกทั้งหมด มีมูลค่าลดลงถึง 36.94% จึงเป็นตัวฉุดสำคัญที่ทำให้ยอดส่งออกเดือน ม.ค. 2562 ปรับตัวลดลง และยังมีการลดลงของสินค้าเครื่องประดับแท้และเพชร ที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 และ 4 ที่ส่งออกลดลงเล็กน้อย 1.92% และ 1.13% แต่ถ้าไม่รวมทองคำ คิดเฉพาะเครื่องประดับอย่างเดียว การส่งออกเพิ่มขึ้น โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น พลอยสี เพิ่ม 25.62% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 5.23% เป็นต้น"
 

"เทรดวอร์" ทุบส่งออก "อัญมณี" ยอด ม.ค. วูบ 16%


สำหรับตลาดส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด ได้แก่ สหภาพยุโรป ได้กลับมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในตลาดอียู โดยเพิ่มขึ้น 16.38%, สหรัฐอเมริกาเพิ่ม 1.11%, ตะวันออกกลาง เพิ่ม 20.13% เพราะกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น, ญี่ปุ่น เพิ่ม 2.77%, อาเซียน เพิ่ม 23.03% และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เพิ่ม 1.33% ส่วนฮ่องกง ซึ่งเคยเป็นตลาดอันดับ 1 ลดลง 9.74%, อินเดีย ลด 19.78%, จีน ลด 16.93%, รัสเซียและประเทศเครือรัฐเอกราช ลด 81.08% โดยฮ่องกงและจีนที่ลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป็นปัจจัยกดดัน ทำให้ลดการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็นลดลง ส่วนรัสเซียได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในทะเลดำ ทำให้คนลดการบริโภคลง

สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในเดือนต่อ ๆ ไป คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี เพราะคู่ค้าหลายประเทศยังมีความต้องการบริโภค แต่ก็ต้องจับตาปัจจัยที่จะกระทบต่อการส่งออก ทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า หากเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจะส่งผลดีต่อการส่งออก แต่หากแย่ลง ก็จะส่งผลกระทบ รวมถึงเหตุจลาจลในบางประเทศในยุโรป ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนที่จะเป็นแรงกดดันต่อการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับ

ทั้งนี้ แม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็มีโอกาสส่งออกในหลาย ๆ ตลาด ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องศึกษาและหาโอกาสเพิ่มยอดขาย โดยเฉพาะตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตดี ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์และโอมาน, อาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว บรูไน และควรเพิ่มช่องทางการขายผ่านทางออนไลน์ให้มากขึ้น และประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook, Twitter, LinkedIn ซึ่งได้รับการยอมรับในวงกว้าง ว่า เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงศึกษารูปแบบสินค้าที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ

นอกจากนี้ จะต้องศึกษาแนวโน้มของสินค้า โดยสินค้าที่มาแรงในปี 2562 เช่น เครื่องประดับแบบซ้อนเลเยอร์ และชาร์มที่ใส่สัญลักษณ์ หรือ ตัวอักษรลงบนชิ้นงานได้ ส่วนสีประจำปีนี้ ตามประกาศของ Pantone คือ Living Coral ซึ่งผสมผสานสีส้ม สีชมพู และสีแดง ผู้ประกอบการจึงอาจจัดหาสินค้าที่มีรูปแบบ หรือ สีสันตามเทรนด์ดังกล่าว เพื่อจำหน่ายในตลาดต่อไป

"เทรดวอร์" ทุบส่งออก "อัญมณี" ยอด ม.ค. วูบ 16%