"BEM-สี่แสงการโยธา" โผล่ซื้อซองประมูล O&M 2 มอเตอร์เวย์

05 มี.ค. 2562 | 11:35 น.

"BEM และสี่แสงการโยธา" โผล่ซื้อซองประมูลงานระบบ O&M 2 มอเตอร์เวย์ จับตา! กลุ่มดอนเมืองโทลล์เวย์ร่วมทุนญี่ปุ่น ส่วน 'ยูนิค' ผนึก 'ไชน่าฮาร์เบอร์' จากจีน "บิ๊กซิโน-ไทยฯ" ยัน! รวม "กลุ่มบีเอสอาร์" สู้ประมูล

ตามที่กรมทางหลวงเปิดให้เอกชนแสดงความสนใจร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน–นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่–กาญจนบุรี (M81) มูลค่ารวมกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท
 

"BEM-สี่แสงการโยธา" โผล่ซื้อซองประมูล O&M 2 มอเตอร์เวย์


ล่าสุด วันที่ 5 มี.ค. 2562 นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า มีภาคเอกชนจำนวน 2 ราย คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด เข้ามาซื้อซองเอกสารประกวดราคาตามที่กรมทางหลวง (ทล.) ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประกวดข้อเสนอการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี รวมมูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้านบาท


โดยในครั้งนี้ การให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2562 ถึงวันที่ 27 มี.ค. 2562 โดยนับตั้งแต่วันแรกถึงวันที่ 5 มี.ค. 2562 พบว่า มีการซื้อขายเอกสารข้อเสนอ (RFP) การให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) โดยมีเอกชนเข้าชื้อเอกสาร ดังนี้ คือ

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ประกอบด้วย

1) บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)

2) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

3) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

4) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

5) Metropolitan Expressway Company Limited

6) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด

7) China Harbour Engineering Company Limited

8) บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด

9) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

10) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

11) บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด


โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ประกอบด้วย

1) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

2) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

3) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

4) Metropolitan Expressway Company Limited

5) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด

6) China Harbour Engineering Company Limited

7) บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด

8) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

9) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

10) บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด


อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยต่อไปอีกว่า การร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ในส่วนของการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) โดยเอกชนเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้าง งานระบบ และองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้าง รวมถึงรายได้ทั้งหมดจากค่าธรรมเนียมผ่านทาง และให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาของโครงการทั้งหมด ทั้งในส่วนของงานโยธาที่รัฐเป็นผู้ลงทุนและงานส่วนที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง โดยเอกชนได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ค่าบำรุงรักษา และค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมทั้งงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด (ภายใต้แนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost)
 

"BEM-สี่แสงการโยธา" โผล่ซื้อซองประมูล O&M 2 มอเตอร์เวย์


ทั้งนี้ การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนจะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 และระเบียบกรมทางหลวงว่าด้วยเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง พ.ศ. 2549 อย่างเคร่งครัด


ด้าน นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยังร่วมกับกลุ่มบีเอสอาร์ ที่ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ และยังจะดึงบริษัทจากต่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านงานระบบมอเตอร์เวย์เข้ามาร่วมกลุ่มด้วย

ด้าน แหล่งข่าวระดับสูงของกรมทางหลวงรายหนึ่ง กล่าวว่า การชิงประมูลงานระบบมอเตอร์เวย์ 2 สายในครั้งนี้ คาดว่าจะดุเดือดไม่น้อยไปกว่ารายการอื่น ๆ เนื่องจากมีมูลค่าสูงถึง 5.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีเข้าร่วมชิงประมูล 5-6 กลุ่ม อาทิ กลุ่มดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่จะร่วมกับกลุ่ม Metropolitan Expressway จากญี่ปุ่น, กลุ่ม ช.การช่าง ที่ยังไม่เข้ามาซื้อซอง จะร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะร่วมกับทางญี่ปุ่นและจีน, กลุ่มบีเอสอาร์ คาดว่าจะร่วมกับจีน และกลุ่มยูนิคที่จะร่วมกับ China Harbour Engineering จากจีน เช่นเดียวกับ บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะร่วมกับจีนด้วยเช่นกัน คงมีลุ้นกันว่า ท้ายที่สุดแล้ว บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จะร่วมกับกลุ่มใด

"BEM-สี่แสงการโยธา" โผล่ซื้อซองประมูล O&M 2 มอเตอร์เวย์