เลื่อนชี้ชะตารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน “ซีพี” อ้างรอคำตอบจากจีน

04 มี.ค. 2562 | 14:34 น.

รฟท.เผยซีพีแจ้งขอเลื่อนให้คำตอบผลการเจรจารถไฟเชื่อม 3 สนามบินเป็น 13 มี.ค.นี้ “วรวุฒิ” เผยจะทราบผลชัดในช่วงค่ำวันนี้หลังจากซีพียื่นหนังสือถึงรฟท. ด้าน “อาคม” เผยผลการเจรจารถไฟไทย-จีนขยับเป้าลงนามไปเม.ย.นี้ในส่วนสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมทั้งจัดหาขบวนรถ

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่การกลถ่ายมธุรกิจบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่าในช่วงค่ำวันนี้กลุ่มซีพีได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อแจ้งขอเลื่อนการตอบรับผลการเจรจาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหลังจากที่ได้เจรจาร่วมกันมาแล้ว 4-5 ครั้ง โดยเฉพาะประเด็นข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งสรุปผลการเจรจาพบว่าคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟเชื่อม 3 สนามบินไม่สามารถรับข้อเสนอทั้ง 12 ข้อดังกล่าวได้

“ช่วยบ่ายวันนี้กลุ่มซีพีเข้ามายื่นหนังสืออย่างเป็นทางการ เบื้องต้นนั้นยังไม่ทราบว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร แต่เบื้องต้นนั้นมีแนวโน้มว่าจะเลื่อนการให้คำตอบกรณีผลการเจรจารถไฟเชื่อม 3 สนามบินจากวันที่ 5 มีนาคมเป็น 13 มีนาคมนี้”

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงรฟท.รายหนึ่งกล่าวว่า ในช่วงค่ำวันนี้พบกลุ่มซีพีเข้ามายื่นเอกสารขอเลื่อนตอบรับผลการเจรจาจากวันที่ 5 มีนาคมไปเป็นวันที่ 13 มีนาคมนี้เนื่องจากซีพีต้องรอรายละเอียดอย่างเป็นทางการจากจีน และยังจัดทำเอกสารไม่แล้วเสร็จ 

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ากรณีรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจา คาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนมีนาคมนี้

นอกจากนี้นายอาคมยังกล่าวถึงความคืบหน้าผลการเจรจาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ครั้งที่ 27 ว่าเรื่องสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร นั้นได้ปรับเปลี่ยนค่าก่อสร้างมาเพิ่มในวงเงินสัญญานี้อีก 7 พันล้านบาทรวมวงเงินทั้งหมด 4.5 หมื่นล้านบาท

ขณะนี้ยังไม่สามารถลงนามร่วมกันได้เนื่องจากมีรายละเอียดต้องคุยอีกมาก จึงต้องขยับเป้าการลงนามสัญญาไปในเดือนเม.ย. โดยฝ่ายจีนยังคงเสนอราคามากกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ส่วนด้านหลักประกันการันตีนั้นยังคงตกลงกันไม่ได้เพราะไทยต้องการปฏิบัติตามสากลคือ 2 ปี ทว่าทางฝ่ายจีนกลับมีข้อแม้ว่าหากขยายการันตีเป็น 2 ปี วงเงินสัญญาก็ต้องเพิ่มขึ้นอีก ทางฝ่ายไทยตอบกลับไปว่าหากสินค้าดีจริงทำไมอายุประกันแค่ 1 ปี

ส่วนจะซื้อรถรุ่นไหนนั้นคงต้องมาเปรียบเทียบสเป็คอีกทีซึ่งต้องคำนึงถึงเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนและราคาค่าโดยสารที่ประชาชนรับได้ด้วย ค่าโดยสารรถไฟไฮสปีดไม่ควรสูงเกินกว่าค่าตั๋วเครื่องบิน ส่วนเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชื่อว่าฝ่ายจีนจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างจริงใจเพราะเป็นสัญญาความร่วมมือระหว่างรัฐบาล(G2G)

นายอาคมกล่าวต่อว่าเรื่องวงเงินลงทุนสัญญา 2.3 นั้นคงใช้การลงทุนโดยเงินกู้จากจีน คาดว่าจะใช้เงินกู้ราว 3.8 หมื่นล้านบาท หรือราว 85% ของวงเงินลงทุน ถ้าหากตกลงกันได้ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 3% ต่อปี ส่วนความคืบหน้าการประมูลงานก่อสร้างนั้นจะมีการลงนามสัญญาที่ 2 ตอนสีคิ้ว-กุดจิก วงเงิน 3.3 พันล้านบาทในวันที่ 6 มี.ค.นี้ ขณะที่สัญญาก่อสร้างที่เหลืออีก 12 สัญญามูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาทนั้นจะทยอยลงนามสัญญาเป็นสองช่วง กลุ่มแรก 5 สัญญารวม 111 กม. ลงนามภายในมิ.ย.นี้ ขณะที่อีก 7 สัญญา ลงนามภายในเดือนก.ค.นี้ โดยมีกำหนดเริ่มก่อสร้างภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ 

อย่างไรก็ตามการประชุมร่วมกันยังได้ข้อสรุปเรื่องการก่อสร้างตอนที่ 3 ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์นั้นจะมีการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงโดยแต่ละฝ่ายแยกกันลงทุนและก่อสร้างในดินแดนของตัวเอง ส่วนตัวโครงสร้างพื้นฐานด้านสะพานนั้นแบ่งกันลงทุนฝ่ายละ 50% ประกอบด้วย 3 ราง ได้แก่ รางรถไฟไฮสปีด 2 รางและรางรถไฟทางคู่ 1 ราง ขณะที่การเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้านั้นรฟท.จะก่อสร้างสถานีหนองคายจำนวน 2 สถานี แบ่งเป็นสถานีสำหรับสินค้าเป็นลานเทกองสินค้า(CY) เพื่อเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงรถไฟทางคู่และก่อสร้างสถานีสำหรับผู้โดยสารอีกแห่งแยกกันขณะนี้กำลังหาตำแหน่งที่ตั้งเหมาะสม

เลื่อนชี้ชะตารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน “ซีพี” อ้างรอคำตอบจากจีน