กสทช.ลอยแพค่ายมือถือ! วิษณุชี้ ครม.ยังไม่คุยเรื่องนี้

09 เม.ย. 2561 | 07:21 น.
- 9 เม.ย. 61 - นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิตอล ไม่ใช่สิ่งที่ กสทช.เป็นคนชงเรื่องให้รัฐบาลออก ม.44 อย่างที่หลายฝ่ายคิด เพราะเรื่องนี้รัฐบาลเป็นผู้มาขอความเห็นจาก กสทช.เองว่ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ซึ่งจริงๆแล้วสิ่งที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคม 2 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทลูกของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) บริษัทในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ไปยื่นเรื่องกับรัฐบาลเองลงวันที่ 27 ธ.ค. 2560 ว่าขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz งวดที่สี่ออกไปเป็น 7 งวด และขอไม่ชำระอัตราดอกเบี้ย โดยอ้างว่าราคาประมูลสูงเกินจริง เพราะ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ไม่ชำระค่าประมูล และจะมีปัญหาในการขยายโครงข่ายด้านโทรคมนาคมในอนาคต

ทั้งนี้ กสทช. ก็มีความเห็นตอบกลับไปยังรัฐบาลว่า ผู้ประมูลสามารถมีทางเลือกว่าจะชำระตามเดิมหรือชำระตามที่ขอก็ได้ แต่ควรขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลเป็น 3-5 งวด ไม่ใช่ 7 งวด และควรชำระอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลขอความเห็นนั้นไม่ได้ขอแค่กสทช.ฝ่ายเดียว รัฐบาลยังขอความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

“การช่วยเหลือเรื่องโทรคมนาคม ล่าสุดก็ได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 3 เม.ย.อีกครั้งแล้วว่าแนวทางช่วยและไม่ช่วยจะเกิดอะไรขึ้น ขออย่ามาโฟกัสที่คำพูดของเรา ถ้าตรรกะนี้ใช้ไม่ได้ เลอะเลือนไป ก็ทำตามตรรกะของนักวิชาการไป ส่วนเรื่องโทรคมนาคมจะไม่ช่วยก็ไม่ขัดใจ ถึงปี 2563 ก็นำแบงก์การรันตีไปขึ้นเงินเท่านั้นเอง ขอให้ทุกคนที่มีเหตุผลดีส่งไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เอง ไม่ต้องส่งมาที่ผม ผมไม่ได้เป็นคนชง ไม่ได้อุ้มโทรคมนาคม ที่บอกว่าโทรคมนาคมยังมีกำไรอยู่นั้น เราไม่ได้ติดใจเรื่องนี้ หลักการในการตอบเราตอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน หากหลายคนบอกว่าไม่ต้องการช่วยเหลือ กสทช. ก็ไม่ขัดข้อง เพราะ กสทช. มีแบงก์การันตีอยู่แล้ว ถึงเวลาก็เอาไปขึ้นเงิน ที่ผ่านมาเราทำดีที่สุดแล้ว ตอนนี้รัฐบาลจะช่วยทีวีดิจิตอลก็ช่วยไป”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สั้นๆ คือ กรณีที่ค่ายโทรศัพท์มือถือ 2 ค่าย คือ เอไอเอสและทรู และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ม.44 ช่วยเหลือว่า จะยังไม่มีการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 เม.ย. ส่วนจะแยกการช่วยเหลือระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคมกับทีวีดิจิทัลออกจากกันหรือไม่นั้น ยังไม่มีการหารือในเรื่องนี้ ต้องรอหารือกันก่อน โดยต้องนำทุกฝ่ายมาพูดคุยกัน แต่รัฐบาลรับทราบว่ามีข้อเรียกร้องให้แยกการช่วยเหลือ ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว