พลังงานเผยแนวโน้มปริมาณนำเข้าก๊าซเพิ่ม

10 ส.ค. 2560 | 09:37 น.
กระทรวงพลังงานเผยแนวโน้มปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ของประเทศไทยจะสูงขึ้นในช่วงปี 2564-2566

นายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แนวโน้มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ของประเทศไทยจะสูงขึ้นในช่วงปี 2564-2566 เนื่องจากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยเริ่มลดลง โดยเฉพาะแหล่งสัมปทานเอราวัณและบงกช มีปริมาณผลิตอยู่ที่ 2.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะหมดปี 2565-2566 ประกอบกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีแผนยืดอายุก๊าซ จึงต้องการลดผลิตเหลือ 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่หายไปจะนำเข้าแอลเอ็นจีมาทดแทน

[caption id="attachment_192696" align="aligncenter" width="503"] นายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม นายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม[/caption]

ขณะที่แหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) ปัจจุบันอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะหมดสัญญาปี 2570ได้มีการเจรจาเพื่อต่อสัญญาแล้ว ส่วนแหล่งก๊าซในเมียนมา จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.05 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่แหล่งยาดานาและเยตากุนเริ่มลดลง จะเหลือ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2566-2567

ดังนั้นปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีจะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็น 10% ของยอดใช้ก๊าซทั้งหมดในประเทศที่ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะเพิ่มเป็น 2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็น 40% และเป็น 50% ของยอดใช้ก๊าซทั้งหมดในปี 2570 ขณะที่ปริมาณการนำเข้าแอลพีจี จากปัจจุบันนำเข้า 10% คิดเป็น 4.3 หมื่นตันต่อเดือน จะเพิ่มเป็น 20% ในปี 2564-2566 และเป็น 30% ในปี 2570

ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซอยู่ที่ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็น ก๊าซจากอ่าวไทย 2.9 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ,เจดีเอ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ,เมียนมา 1.05 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งสัมปทานบนบก 80-100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่เหลือก็ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามาเสริมในระบบ

“กระทรวงพลังงานเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ เพื่อให้เกิดการแข่งขันจากเดิมมีเพียง ปตท.นำเข้าพียงรายเดียว แบ่งเป็นเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจี ที่ให้ผู้ค้ามาตรา 7 รายอื่นสามารถนำเข้าแอลพีจีได้ ขณะที่การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลเอ็นจี จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เบื้องต้นอนุมัติขยายคลังแอลเอ็นที่ จ.ระยอง จาก 10 ล้านตัน เป็น 11.5 ล้านตัน ,คลังแอลเอ็นจีหนองแฟบ 7.5 ล้านตัน และคลังลอยน้ำ FSRU กฟผ. 5 ล้านตัน รวมทั้ง FSRU ที่เมียนมาของ ปตท. 3 ล้านตัน โดยที่ผ่านมาได้มีการเจรจากับทางเมียนมาไปเบื้องต้นแล้ว โดยสรุปพื้นที่สร้าง FSRU ที่เมืองกันบ็อก และคาดว่าจะสามารถลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน(MOA) ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่จะจัดขึ้นที่ฟิลิปปินส์ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้”ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว