"ฉัตรชัย" ปลื้ม 2 ปีดันแปลงใหญ่เห็นผล ยกศรีสะเกษหลุดเกณฑ์จังหวัดยากจน

16 มิ.ย. 2560 | 23:20 น.
"ฉัตรชัย” ปั้นศรีสะเกษหวัง ยกระดับจังหวัดหลุดเกณฑ์ยากจน  หลังประเมินแปลงใหญ่โคเนื้อ-ทุเรียน ผ่าน 2 ปีเห็นผลต้นทุนลด กำไรเพิ่ม วอนเกษตรกรพัฒนาคุณภาพสินค้าหนีคู่แข่ง

1497605878274

พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “เทศกาลเงาะ- ทุเรียนศรีสะเกษ ASEAN Trade Fair 2017” จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมทั้งตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของจังหวัดศรีสะเกษที่ประสบความสำเร็จนอกเหนือจากแปลงใหญ่ข้าว  เช่น แปลงใหญ่โคเนื้อ และแปลงใหญ่ทุเรียน โดยได้เยี่ยมชมจุดรับซื้อ จุดจัดส่งทุเรียนพรีเมี่ยม เพื่อการพัฒนาทุเรียนคุณภาพของจังหวัดศรีสะเกษ  ณ สหกรณ์การเกษตรลักษ์ จำกัด

"โดยมีผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของจังหวัดศรีสะเกษ พบว่า ในระยะสองปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าค่อนข้างมากและชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยในปี 2560 จังหวัดศรีสะเกษมีจำนวนแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 85 แปลง ในพื้นที่ 22 อำเภอ ได้แก่ ข้าว 68 แปลง ทุเรียน 2 แปลง พริก 3 แปลง หอมแดง 7แปลง กระเทียม 1 แปลง และปศุสัตว์ 4 แปลง พื้นที่รวม 171,490 ไร่ เกษตรกร 14,612 ราย โดยกลุ่มสินค้าแปลงใหญ่ที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาดในขณะนี้ คือ แปลงใหญ่ทุเรียน และแปลงโคเนื้อ "

ทั้งนี้แปลงใหญ่ทุเรียน พบว่า ผลผลิตของเกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากเดิมผลิตได้ 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ ปัจจุบันสามารถผลิตได้ถึง 1,590 บางพื้นที่สามารถผลิตได้ถึง 1,800 กิโลกรัมต่อไร่ ถือว่าเป็นจุดเด่นที่ชัดเจนมากในเรื่องของการพัฒนา ขณะเดียวกัน เกษตรกรก็หันมาใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้นช่วยลดต้นทุน ส่งผลทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ในส่วนของมาตรฐานถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญทางกระทรวงเกษตรฯ เร่งส่งเสริมระดับสินค้าทางการเกษตรนั้นจำเป็นจะต้องยกเรื่องมาตรฐานด้วย ทุเรียนจังหวัดศรีสะเกษได้รับรองมาตรฐาน GMP ทุกแปลง ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ผมภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก

สำหรับแปลงใหญ่โคเนื้อ เป็นการรวมกลุ่มของโคเนื้อที่สามารถลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะเรื่องของอาหารสัตว์จากที่เคยซื้อกิโลกรัมละ 2 - 2.50 บาท เปลี่ยนมาใช้หญ้าเนเปียเป็นอาหารทำให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการขายลูกโคเนื้อ อายุ 6 เดือน ที่เปลี่ยนจากเดิมที่ใช้พันธุ์พื้นเมือง เปลี่ยนผสมพันธุ์ชาร์โรเล่ล์ กับพันธุ์บรามัน ทำให้คุณภาพของลูกวัวมีโครงสร้างและคุณภาพที่ดีกว่า ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย