สวทช.จับมือ 9 ม.ราชมงคลพัฒนาบุคลากรวิชาชีพรองรับอีอีซี

16 มิ.ย. 2560 | 13:05 น.
สวทช.ลงนามความร่วมมือสนับสนุนพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกับกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่งช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากร การวิจัย การพัฒนานวัตกรรม รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในโครงการ

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)เปิดเผยถึงโครงการความร่วมมือระหว่างสวทช. กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่งว่า โครงการพัฒนา “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ EECi : Eastern Economic Corridor of Innovation เป็นโครงการฯ ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย ในการพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ เพื่อเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นของงานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการวิเคราะห์ทดสอบที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนหน่วยงานวิจัยพันธมิตรจากต่างประเทศให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนจำนวน 51 หน่วยงาน

mtr

สำหรับความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาEECi กับ มทร. ทั้ง 9 แห่งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรอื่นใดตามสมควรและเหมาะสม เพื่อให้การพัฒนานโยบายและการวางแผนขับเคลื่อนการพัฒนา EECiเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดย มทร. ทั้ง 9 แห่งจะดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ร่วมกัน รวมถึงการให้บริการตามภารกิจและบทบาทของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ด้านวิศวกรรมยานยนต์ และวิศวกรรมการบินและอวกาศ ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ ในพื้นที่ EECi อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EECi เพื่อประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  กล่าวถึงมุมมองและแผนการดำเนินงานเพื่อสนับสนุน EECiของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุเทพ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน(มทร.อีสาน)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย(มทร.ศรีวิชัย)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

(มทร.ล้านนา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก(ตะวันออก) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (มทร.รัตนโกสินทร์) ว่า รายละเอียดและขอบเขตการดำเนินงานในโครงการEECiหลายๆส่วนมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งกำลังขับเคลื่อนและดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเพื่อก้าวไปสู่การเป็น Train the Trainer รวมไปถึงการพัฒนาและออกแบบหลักสูตรใหม่ๆเพื่อผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศในยุค 4.0

กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลได้มีการผนึกกำลังร่วมกันขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่(Mega Project) ใน 6 ด้าน เพื่อรองรับยุทธศาสตร์หลักและแผนการพัฒนาประเทศมาแล้วกว่า 2 ปี ดังนี้

ด้านที่ 1พัฒนากำลังคนระบบ Transport & Logistic ประกอบด้วย1.ศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน มทร.กรุงเทพเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อน 2.ระบบขนส่งทางราง มทร.อีสาน เป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อน 3.ระบบขนส่งทางทะเล มทร.ศรีวิชัยเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อน4.การพัฒนาบุคลากรนักปฏิบัติโลจิสติกส์ระดับอาเซียน มทร.ตะวันออกเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อน

ด้านที่ 2ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ( Digital Economy)  มทร.พระนครเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อน

ด้านที่ 3การบริหารจัดการน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมทร.สุวรรณภูมิเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อน

ด้านที่ 4 โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาครูวิชาชีพ มทร.ธัญบุรี เป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อน และ2.การผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ มทร.ล้านนา เป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อน

ด้านที่ 5 โครงการด้านกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) มทร.กรุงเทพ เป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนและ Social Engagement มทร.ล้านนาเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อน

และ ด้านที่ 6 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มทร.รัตนโกสินทร์ เป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อน

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าของโครงการ EECiขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. ได้ศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study)ของการจัดตั้งEECi และลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่แล้ว ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี เพราะชุมชนเห็นว่า EECi จะช่วยพัฒนาพื้นที่และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างเป็นรูปธรรมนอกจากนั้น สวทช. ยังได้ระดมความคิดเห็นจากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อนำความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไปจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา EECi ที่จะตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้และการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน

“เป้าหมายของพื้นที่ EECi ตามแผนแม่บทการพัฒนา EECi จะใช้เป็นพื้นที่วิจัยและออกแบบวิศวกรรมควบคู่กันไปซึ่งศักยภาพในพื้นที่แห่งนี้สามารถมีองค์กรวิจัยที่มีนักวิจัยระดับหัวกะทิของประเทศ และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านร่วมกันทำงานในลักษณะการวิจัยในโรงงานต้นแบบและยังมีศูนย์วิจัยจากต่างประเทศมาร่วมทำงานในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ดังนั้นจะเป็นการระดมกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม ไปร่วมกันใช้พื้นที่ EECi ทำการวิจัยที่ใช้ได้จริง สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้อง 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.การบิน 2.เครื่องมือแพทย์ 3.ยานยนต์อัจฉริยะ 4.ระบบอัติโนมัติ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 5.อาหาร เกษตรสมัยใหม่ และ6.เคมี เชื้อเพลิงชีวภาพ”ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว