ERS หนุนรัฐสร้างความชัดเจนสัมปทานปิโตรเลียม

30 พ.ค. 2560 | 10:26 น.
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กล่าวต้อนรับสมาชิกเนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีของการก่อตั้งกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ ERS กล่าวว่า ต้องการให้สมาชิกและผู้สนใจได้มีโอกาสรับรู้ แลกเปลี่ยนประเด็นพลังงานด้านต่างๆ ในเชิงลึก พร้อมตอกย้ำแนวทางของกลุ่มฯ เพื่อการปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศ “ขจัด-ลด-สร้าง-พัฒนา” คือ ขจัด ความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้ความเป็นธรรมผู้ใช้ทุกกลุ่ม ,ลด คอรัปชั่น สร้างธรรมาภิบาลในการบริหารพลังงาน ,สร้าง ประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความมั่นคงในการจัดหา ,พัฒนา พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เกิดและดำรงอยู่ได้จริง

โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทางกลุ่มฯ ได้มีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐ ซึ่งได้มีการเดินหน้าปฏิรูปและพัฒนาการบริหารพลังงานของประเทศ อาทิ การปรับโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม ยังมีความล่าช้าอยู่ในเรื่องการบริหารแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทาน และการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่

ขณะที่ประเด็นแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 2565 และ 2566 นี้ว่า หากขั้นตอนล่าช้า จะส่งผลกระทบต่างๆ มากมาย ทั้งต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มากขึ้น การลงทุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมขาดช่วง บุคลากรตกงาน ธุรกิจต่อเนื่องของคนไทยต้องเสียหาย รัฐจะสูญเสียรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่ลดลง อาจจะเหลือแค่ครึ่งหนึ่งจากที่เคยได้รับสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งจะกลายเป็นรายได้ของรัฐบาลต่างประเทศที่ไทยต้องนำเข้าพลังงานเข้ามาแทน

อย่างไรก็ตามหลายคนอาจไม่ทราบว่าการต่อระยะเวลาผลิตเมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นสิทธิ์ตามสัญญาสัมปทานเดิมนั้น ได้สร้างรายได้เพิ่มแก่ภาครัฐเฉลี่ยปีละ 4,600 ล้านบาท นอกจากนี้ วิธีการบริหารแหล่งปิโตรเลียมก็เป็นสิ่งสำคัญ หากไม่เหมาะสม เช่น เรียกผลตอบแทนให้รัฐสูงมาก บริษัทผู้ลงทุนก็อาจเลือกไปลงทุนในประเทศอื่นที่คุ้มค่ากว่าแทน

ด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทน เสนอให้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอย่างกว้างขวาง โดยรัฐไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินอุดหนุน เพียงขจัดอุปสรรคต่างๆ ออกไปให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ก็จะสามารถลดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ระดับหนึ่ง

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ กล่าวว่า การบริหารพลังงานทดแทนของรัฐบาลชุดนี้มีความโปร่งใสขึ้นมาก ส่วนความล่าช้าในการบริหารแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทาน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงการจัดหาพลังงานภายในประเทศแล้ว ยังส่งผลต่อการผลิตแอลพีจี และวัตถุดิบเพื่อป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ ซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่องและการจ้างงานโดยรวม อีกทั้งยังเห็นว่าระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ไม่ค่อยเหมาะสมกับบริบทของการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยที่มิได้มีปิโตรเลียมมากมายนัก เพราะเป็นระบบที่จะเพิ่มขั้นตอนการอนุญาตและการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่มากกว่าในระบบสัมปทาน อันจะนำไปสู่ความล่าช้าในการตัดสินใจ ความอ่อนประสิทธิภาพ และความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาลของการต้องผ่าน “โต๊ะ” จำนวนมาก

ส่วนนโยบายที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ การเจรจากับกัมพูชาหาข้อยุติในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย (OCA) ก็ยังก้าวหน้าน้อยมาก นอกจากนี้ยังกังวลว่าการแปลงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี2015) ไปสู่การปฏิบัติ ยังมีความล่าช้าและมีอุปสรรค เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้ (จ.กระบี่) เป็นต้น

นายมนูญ ศิริวรรณ กล่าวว่าไทยมีความเสี่ยงด้านพลังงานสำคัญ 3 ประการ หนึ่ง ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต้องนำเข้าพลังงานฟอสซิลเกือบ 100% ในอนาคต ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากเดิมที่สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติจากในประเทศเป็นหลัก แม้แต่การผลิตพลังงานหมุนเวียนก็ต้องพึ่งพิงการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ สอง การขับเคลื่อนด้านพลังงานมีความล่าช้า เพราะมีข้อเรียกร้องจากภาคส่วนต่างๆ แต่ภาครัฐยังขาดการตัดสินใจและแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน เช่น การบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และอาจไม่รอลงทุนต่อในประเทศไทย เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ต่างก็มีงบประมาณลงทุนที่จำกัด สาม ประชาชนยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในเรื่องพลังงาน ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ มีอุปสรรค โดยมองว่าหากประเทศไทยขจัดความเสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้ จะทำให้การบริหารจัดการด้านพลังงานของไทยมีความยากลำบาก

ทั้งนี้ กลุ่ม ERS อยากเห็นรัฐบาลเดินหน้าโครงการเพื่อความโปร่งใสในการสกัดทรัพยากร หรือ EITI ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติของ ครม. แล้วตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.2558 ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดความรู้ ช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงานในสังคม และช่วยเสริมสร้างธรรมาภิบาลในภาคพลังงานของไทยได้ด้วย

นางสาวศิริพร ไชยสุต กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ฉะนั้น จึงต้องกล้าตัดสินใจ เพื่อช่วงชิงโอกาสให้ท่วงทันกับสถานการณ์โลก โดยเราสามารถดูข้อดี ข้อด้อยของประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ เป็นบทเรียน เช่น อังกฤษในช่วงที่ราคาน้ำมันเพิ่งเริ่มปรับตัวลงต้นปี 2558 การตัดสินใจของรัฐบาลอย่างทันท่วงทีในการแก้ไขกฎหมายภาษีน้ำมัน ทำให้สามารถเหนี่ยวรั้งนักลงทุนในทะเลเหนือให้ลงทุนต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนไม่ตกงาน ธุรกิจต่อเนื่องขนาดกลางและเล็กต่างๆ ไม่ต้องปิดตัวลง มีพลังงานภายในประเทศใช้ รักษาเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไว้ได้ แม้จะอยู่ในระหว่างเลือกตั้งและมีเสียงคัดค้านมากมาย ในขณะที่บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศเวเนซูเอล่าซึ่งจริงๆ แล้วมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรปิโตรเลียมมากติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลับใช้นโยบายที่ตอบสนองประชานิยมและชาตินิยม แก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามคำเรียกร้อง ไม่มองภาพรวมหรือคำนึงถึงผลกระทบข้างเคียง จึงก่อให้เกิดปัญหาลูกโซ่ต่อเนื่องตามมาทั้งระบบโดยที่ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น” เช่น การที่บรรษัทพลังงานมีวัตถุประสงค์ที่ซับช้อน โดยปะปนกับการแก้ปัญหาสังคมทำให้เกิดปัญหาในการบริหารพลังงานซึ่งน่าจะเป็นวัตถุประสงค์หลัก เกิดปัญหาทั้งด้านประสิทธิภาพและเงินลงทุน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศเวเนซุเอลา ต้องนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินบางส่วนด้วย

ส่วนกรณีของประเทศไทยยังมีโอกาสและความน่าสนใจในการลงทุน แต่ต้องไม่ประมาท ประชาชนต้องรับฟังข้อมูลอย่างมีสติ การแก้ปัญหาต้องคำนึงถึงผลกระทบในภาพรวมและระยะยาว ไม่ใช่คำนึงแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

“การแก้ปัญหาพลังงานของไทยต้องใช้หลัก 5 ย. คือ มองยาว แยกแยะ ยับยั้งการยั่วยุ ยืนหยัด และ อย่ายืดยาด” คุณศิริพร กล่าว