เร่งสปีดรถไฟไทย-จีนเล็งสิงหาฯเปิดประมูล

30 พ.ค. 2560 | 04:53 น.
คมนาคมเดินหน้าเร่งโครงการไฮสปีดเทรนไทย-จีน1.79 แสนล้าน เตรียมเสนอครม.พิจารณาในเดือนมิถุนายนนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเป้าลงนามในสัญญาและเปิดประมูลช่วง3.5 กม.แรก “กลางดง-ปางอโศก” มูลค่า 200 ล้านใน 2 เดือนข้างหน้า เพื่อสามารถลงมือก่อสร้างในเดือนสิงหาคม

การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ระหว่างไทย-จีนครั้งที่ 18 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมาสร้างความคืบหน้าให้กับโครงการอีกระดับหนึ่งโดยกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาเห็นชอบโครงการในเดือนมิถุนายนนี้ นายอาคมเติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ได้ข้อสรุปเกือบทั้งหมดแล้วกระ ทรวงคมนาคมเตรียมเสนอรายละเอียดให้ที่ประชุมครม.พิจารณาเห็นชอบ โดยตั้งเป้าว่า หลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถลงนามในสัญญาโครงการได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ และจะเปิดประมูลก่อสร้างช่วงแรก กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5กิโลเมตร มูลค่า 200 ล้านบาทในราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเมื่อทราบผลประมูลในเดือนสิงหาคม ผู้รับเหมาก็สามารถเข้าพื้นที่ลงมือก่อสร้างได้ทันที

ในส่วนของเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์)ช่วง 3.5 กิโลเมตรแรก ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดทำเสร็จแล้วถ้าครม.ให้ความเห็นชอบ ก็จะสามารถลงนามในสัญญา และเปิดประมูลได้ทันที ทางกระทรวงคมนาคมจะหารือกับกระทรวงการคลังว่าจะใช้เงินกู้ภายในประเทศหรืองบประมาณภาครัฐในการก่อสร้าง

ทั้งนี้ การลงนามในสัญญาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างใน 3 ช่วงที่เหลือตามมาโดยช่วงที่ 2 (ปากช่อง-คลองขนานจิตร) ระยะทาง 11 กิโลเมตรช่วงที่ 3 (แก่งคอย-โคราช) ระยะทาง 119 กิโลเมตร และช่วงที่ 4 (กรุงเทพฯ-แก่งคอย) 119 กิโลเมตรร.ฟ.ท.จะเร่งรัดทยอยก่อสร้างต่อเนื่องทันที ซึ่งไทยได้ขอให้ฝ่ายจีนกลับไปจัดทำแบบและกรอบระยะเวลาก่อสร้างเสนอกลับมาโดยเร็วเพื่อให้การก่อสร้างสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่จีนได้ขอให้ไทยแก้ไขอุปสรรคเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้กับบุคลากรฝ่ายจีน ซึ่งไทยรับปากว่าสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกกำลังเร่งดำเนินการให้ ขณะเดียวกันก็รับปากฝ่ายจีนว่าจะติดตามใกล้ชิดในเรื่องของรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ช่วงบ้านภาชี-นครราชสีมา ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยังไม่ให้ความเห็นชอบ แม้จะเสนอข้อมูลเพิ่มเติมมาถึง 4 ครั้งแล้ว แต่ช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชีผ่านความเห็นชอบแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560