สนข.เร่งวิเคราะห์การพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับพื้นที่ EEC ภาคตะวันออก

25 พ.ค. 2560 | 10:10 น.
สนข.เร่งวิเคราะห์การพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงข่ายหลัก โครงข่ายรอง สิ่งอำนวยความสะดวกการขนถ่ายสินค้า รวมถึงกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนค่าขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการของระบบขนส่งได้อย่างเป็นรูปธรรม ก่อนำผลที่ได้จากการสัมมนาไปประกอบการศึกษาและพัฒนากรอบแนวทางสู่การกำหนดระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ให้เกิดความเหมาะสม ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาต่างๆต่อไป

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่แนวระเบียงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) (ครั้งที่ 1) โครงการศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศ เพื่อนำเสนอกรอบแนวคิดการศึกษาและแนวทางการพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดที่ศึกษาได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว และตราด เข้าร่วมสัมมนากว่า 150 คน

สำหรับแนวทางการศึกษารูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต หรือ Super Cluster นั้น มีกระบวนการ คือ 1) รวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นการพยากรณ์เพื่อทำนายสถานการณ์ หากมีการพัฒนา Super Cluster 2) รวบรวมข้อมูลโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ 3) สำรวจ/ปรับปรุงการเคลื่อนตัวของสินค้าในพื้นที่  Super Cluster และประตูการค้าสำคัญ 4) พัฒนาแบบจำลองจราจรเพื่อพยากรณ์การเคลื่อนตัวของสินค้า 5) การประเมินประสิทธิภาพของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 6) เสนอแผนโครงการบรรจุเป็นแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายโลจิสติกส์ 7) การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน เมื่อจบกระบวนการแล้ว จึงนำผลที่ได้ไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติต่อไป

ภายในงานครั้งนี้ยังมีการเสวนาถึงแนวทางการพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ โดยวิทยากรที่เป็นตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็น ประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐ นางสาวทัศนีย์  เกียรติภัทราภรณ์  ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัวแทนผู้ประกอบการภาคยานยนต์ นายสุวพันธุ์  อัญชันภาติ รองผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมกระบวนการโลจิสติกส์ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนผู้ประกอบการภาคปิโตรเคมี นายสมนึก งามชัย ผู้จัดการ ฝ่ายบริหารระบบโลจิสติกส์กลุ่ม ปตท. ตัวแทนผู้ประกอบการภาคอิเล็กทรอนิกส์ นางปานชวิน แน่นสิงห์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายโลจิสติกส์ บริษัท ซิเลซติกา (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ นายณัฐภูมิ เปาวรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) โดยเนื้อหาสาระจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปแบบของอุตสาหกรรมในพื้นที่ ปัญหา อุปสรรค และแนวโน้มการเจิญเติบโตของอุตสาหกรรม ตลอดจนความต้องการด้านโลจิสติกส์ของภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ Super Cluster เป็นการรวมกลุ่มของธุรกิจและกิจการที่ใช้เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมขั้นสูง เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีการดำเนินกิจกรรมกันอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี โดยในอนาคตพื้นที่เหล่านี้จะมีการพัฒนาทั้งโครงการระดับเมกะโปรเจ็คและโครงการย่อยเพื่อพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ให้มีความสมบูรณ์และคล่องตัว เช่น ระบบราง เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางเบา ระบบถนน เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ระบบน้ำ เช่น ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ท่าเรือมาบตาพุด ระบบอากาศ เช่น ท่าอากาศสยานนานาชาติอู่ตะเภา นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เกี่ยวเนื่องกว่า 100 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 6.05 แสนล้านบาท