อ.ส.ค.ลุยดันส่งออกนมไทย-เดนมาร์คไปมาเลย์เป้าปีแรก 100 ล้าน

25 พ.ค. 2560 | 07:18 น.
อ.ส.ค.ลุยเปิดตลาดส่งออกนมไทย-เดนมาร์คในมาเลเซีย ตั้งเป้ายอดขายปีแรก 50-100 ล้าน เร่งขยายตลาดในเมียนมา พร้อมกรุยทางสู่จีนตอนใต้ สิงคโปร์ บรูไน

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า ในปีนี้มีแผนรุกตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากกัมพูชาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักแล้ว ยังมุ่งขยายตลาดส่งออกไปยังเมียนมา จากเดิมที่มีการส่งออกตามแนวตะเข็บชายแดน โดย อ.ส.ค. จะร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายหรือเอเย่นต์ที่มีศักยภาพในเมียนมา 2 รายในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อขยายฐานตลาดและผู้บริโภคอย่างจริงจังมากขึ้น เบื้องต้นคาดว่า ยอดขายนมไทย-เดนมาร์คในเมียนมาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ10% มีเป้าหมายส่งออกรวม 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ อ.ส.ค. ยังจะเร่งผลักดันเปิดตลาดส่งออกนมไทย-เดนมาร์คในประเทศมาเลเซียด้วย  ขณะนี้อยู่ระหว่างรอหนังสือ/เอกสารรับรองของรัฐบาลไทยโดยกรมปศุสัตว์เพื่อจัดส่งไปถึงรัฐบาลมาเลเซียในรูปแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายใน 2 เดือนนี้ หากสามารถเปิดตลาดส่งออกไปยังมาเลเซียได้ ในปีแรก อ.ส.ค. ได้ตั้งเป้ายอดส่งออกไว้ที่ 50-100 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5-10% ของเป้าหมายส่งออกตลาดอาเซียนทั้งหมด 1,100 ล้านบาท และปีถัดไปคาดว่า ผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คจะขยายไปยังตลาดสิงคโปร์ และบรูไน  เป็นต้น

“อ.ส.ค. ได้พัฒนาศักยภาพโรงงานนม อ.ส.ค. ภาคใต้ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดตลาดส่งออกนมไทย-เดนมาร์คไปยังมาเลเซีย ทั้งยังได้ประสานสหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด ซึ่งได้ลงนามMOU เป็นพันธมิตรให้เตรียมพร้อมด้านมาตรฐานการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์นมเพื่อส่งออกหากมาเลเซียมีออร์เดอร์นำเข้ามากและ อ.ส.ค.ไม่สามารถผลิตได้ทันต่อความต้องการของลูกค้า สหกรณ์โคนมพัทลุงฯจะช่วยเป็นฐานในการผลิตเสริม”

ขณะเดียวกันมณฑลทางตอนใต้ของจีนเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพสูง ซึ่ง อ.ส.ค. กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งออก เนื่องจากกฎระเบียบและเงื่อนไขการนำเข้าของจีนซึ่งมีการควบคุมเข้มงวดมาก และแต่ละมณฑลยังมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันด้วย จึงต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อนที่จะมีการเจรจาผลักดันเปิดตลาดส่งออก อย่างไรก็ตาม อนาคตถ้ามีการเปิดโรงงานแปรรูปนมใหม่ที่จังหวัดลำปาง คาดจะเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังเมียนมาหรือทางตอนใต้ของจีนได้ จะทำให้การเลี้ยงโคนมในพื้นที่ภาคเหนือเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น และทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีความมั่นใจและมั่นคงในการประกอบอาชีพมากขึ้น