กนอ.จับมือกมธ.คมนาคมจัดทำแผนโลจิสติกส์

17 พ.ค. 2560 | 09:56 น.
กนอ.ผนึกกำลังคณะอนุกรรมาธิการศึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ กมธ.คมนาคม ระดมกว่า 300 ราย ร่วมแสดงความคิดเห็นขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงโครงข่ายไปยังภูมิภาคอาเซียน เสริมความแกร่งสร้างจุดแข็งดึงนักลงทุนเข้าพื้นที่  EEC

พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ร่วมร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาด้านโลจิสติกส์ ในคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเวทีสัมมนาภายใต้เรื่อง “Eastern Economic Corridor and SEZs: The new investment opportunity in Thailand” ระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกว่า 300 คน เพื่อนำไปพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยเพื่อรองรับกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC และเชื่อมโยงกับภูมิภาคให้สอดรับ กับสถานการณ์ปัจจุบันในเพื่อการนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการคมนาคมต่อไป

โดยการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมายพัฒนาEEC เพื่อรองรับการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ของรัฐบาล

ดังนั้นการศึกษาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของคณะอนุกรรมาธิการฯ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ของไทยในภาพรวม และเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการศึกษาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับโลจิสติกส์ รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ ให้มีการเชื่อมโยงกันทั้งระบบ การระดมสมองในครั้งนี้ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนายกระดับ โลจิสติกส์ให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพสามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกทั้งระบบได้ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนาในส่วนนี้ ถือเป็นการสร้างจุดแข็งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ จากการศึกษาแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่EEC ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จะเป็นผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการขนส่งทางชายฝั่งทะเลภูมิภาคอาเซียน เพราะไทยมีจุดแข็งในเรื่องของการส่งออกมีสินค้าวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพสูง และมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระบบถนน ระบบราง และท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ที่มีศักยภาพเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ อาทิ ท่าเรือน้ำลึกทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ท่าเรือสีหนุวิลล์ของราชอาณาจักรกัมพูชา และท่าเรือวังเตาของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นต้น

นอกจากนี้การจัดสัมมนายังมีการบรรยายพิเศษเรื่อง ยุทธศาสตร์การลงทุนประเทศไทย เจาะลึกโอกาสการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดย ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่ง กนอ. ได้กำหนดยุทธ์ศาสตร์การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC จะยกระดับจากฐานการผลิตเดิมให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น และ เป็นฐานการเชื่อมโยงของกลุ่มอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น

นอกจากนี้การพัฒนาโลจิสติกส์ทั้งระบบ ยังสามารถเชื่อมโยงระบบขนส่งกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามแนวชายแดน ซึ่งการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยในการเชื่อมโยงการขนส่งของอุตสาหกรรม ทุกภาคส่วนไปยังภูมิภาคอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ