ถล่มดิวตี้ฟรี! คิงเพาเวอร์ ผูกขาด

13 พ.ค. 2560 | 11:47 น.
ถล่มดิวตี้ฟรี! คิงเพาเวอร์ ผูกขาด

-13 พ.ค.60- หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริง กรุ๊ป ฉบับที่ 3261 วันที่ 14-17 พ.ค.2560รายงานว่า อาณาจักรดิวตี้ฟรีของเจ้าสัววิชัย ณ คิง เพาเวอร์สะเทืิอน เมื่อสปท.เสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาการผูกขาด แอบต่อสัญญา ตีทรัพย์สินไม่ถึงพันล้าน โดนปิดสนามบิน 7 วันดันต่ออายุให้ 2-3 ปี นายกฯสั่งจบเกมสิ้นเดือนนี้

ขุมทรัพย์ดิวตี้ฟรีหลายหมื่นล้าน ของกลุ่มเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา เศรษฐีอันดับ 3 ของไทย แห่งอาณาจักรคิงเพาเวอร์ ร้อนฉ่าขึ้นมาอีกครั้งเมื่อกรรมาธิการวิสามัญด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอรัฐบาลเร่งแก้ใน 5 ประเด็น โดยเฉพาะการผูกขาดในธุรกิจร้านค้าปลอดอากรกับการต่ออายุสัมปทาน
เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ (ทอท.) เลือกปฏิบัติเอื้อประโยชน์ให้คิงเพาเวอร์เพียงรายเดียว หลังจากสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ภายใต้การนำของนางรวิฐา พงษ์นุชิต อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร ตัวแทนของกลุ่มล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี สัญชาติเกาหลีใต้ และตัวแทนกลุ่มทุนค้าปลีกไทย เช่น กลุ่มเซ็นทรัล เดอะมอลล์ ที่พยายามเข้ามาในธุรกิจนี้มาตลอด

นางรวิฐาประกาศชัดเจนว่าสมาคมต้องการให้รัฐบาลเปิดเสรีธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง และขอให้ทอท.จัดหาพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินนานาชาติ เป็นจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมศุลกากรกำหนด ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี

อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการ และผู้บริหารทอท.ที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มคิงเพาเวอร์ ไม่ยอมจัดสรรพื้นที่ให้ โดยอ้างว่า ไม่มีพื้นที่ให้ ถึงขนาดมีการแจ้งให้ไปติดต่อกับคิงเพาเวอร์ ที่เป็นผู้สัมปทานดิวตี้ฟรีเอาเอง

วันนี้สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์จะหมดลงในวันที่ 27 กันยายน 2563 และท่าอากาศฯไทย (ทอท.) มีไทม์ไลน์เปิดประมูลใหม่ต้นปี 2561

สำหรับข้อเสนอ 5 ข้อ ของสปท.ที่เป็นปมร้อนในมือรัฐบาลและกำลังนำไปสู่การปลดบอร์ดทอท.ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธาน รวมทั้งนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้ยกเลิกสัญญากับคิงเพาเวอร์ โดยพุ่งเป้าไปที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานคณะอนุฯสปท. ยืนยันว่าคิงเพาเวอร์ทำผิดไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯที่กำหนดไว้ว่า หากโครงการมีมูลค่าลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้

“มีความพยายามหลีกเลี่ยงในการคำนวณมูลค่าการลงทุนเกี่ยวกับโครงการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ โดยกรณีของการท่าฯ คิดราคาของทรัพย์สิน และสิ่งที่ปลูกสร้างที่ตํ่ากว่าความเป็นจริง ขณะที่คิงเพาเวอร์ร่วมมือด้วยการแจ้งตัวเลขสต๊อกสินค้าคงคลังตํ่ากว่าความเป็นจริง”

แต่พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ประธานบอร์ดทอท.ในขณะนั้น สรุปว่าราคามูลค่าการลงทุนทรัพย์ทั้ง 2 ฝ่ายเกิน 1,000 ล้านบาท จึงเสนอให้ยกเลิกสัญญา ต่อมาคิงเพาเวอร์ยื่นฟ้องศาลขอคุ้มครอง คำฟ้องว่า เสียหายมากกว่า 60,000 ล้านบาท จาก 2 สัญญา สัญญาแรก คือ คิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี คิงเพาเวอร์ เป็นโจทก์ ฟ้องบริษัททอท.ฯ เพื่อเรียกค่าเสียหาย 20,000 ล้านบาท บรรยายคำฟ้องว่าโครงการนี้ทอท.ลงทุนค่าตกแต่งและค่าอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เป็นเงิน 1,082 ล้านบาท อีกสัญญา คือ คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ (ร้านค้าเชิงพาณิชย์) บรรยายคำฟ้องว่า ลงทุน 1,700 ล้านบาท

“จะเห็นได้ว่า สัญญามีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ทั้ง 2 สัญญา ซึ่งภายหลังคิงเพาเวอร์ ขอถอนฟ้องกับศาล ระบุว่า โจทก์ไม่ติดใจเอาความกับทอท. ทั้งยังบอกว่า หากองค์กรทราบว่า ลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท เมื่อใดจะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวทันที ดังนั้น ถือเป็นการผิดกฎหมายซํ้าหรือไม่”

นายชาญชัยยืนยันว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมากมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 5 ข้อของ สปท.ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของทอท. กลับพบความผิดปกติ เมื่อต่ออายุสัญญาให้กับคิงเพาเวอร์ อีก 2 ปี จากที่จะหมดสัญญาปี 2559 เป็นปี 2561 ทั้งยังลดรายได้ตัวเองลง 1% ในยุคนายปิยะพันธ์ จำปาสุต เป็นประธานกรรมการ และนายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ โดยอ้างเหตุว่า เพื่อเยียวยาจากเหตุพันธมิตรฯปิดสนามบินสุวรรณภูมิ 7 วัน แต่ต่ออายุให้ 2 ปี

ประเด็นสำคัญต่อมา การแอบต่อสัญญาสัมปทานให้เป็นครั้งที่ 3 ไปสิ้นสุดในปี 2563 โดยอ้างสาเหตุเศรษฐกิจโลกตกตํ่า

นายนิตินัยชี้แจงว่า การขยายสัญญารวม 3 ปี เป็นไปตามมาตรการเยียวยา แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของสายการบิน ได้ลดค่า แลนด์ดิ้งปาร์กกิ้ง ซึ่งประเมินค่าเสียหาย 1,500 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณจะจ่ายชดเชย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินชดเชย กับในส่วนที่ ทอท.ต้องเยียวยาธุรกิจที่ไม่ใช่สายการบิน สำนักงบประมาณไม่ได้ให้งบประมาณ แต่ให้บอร์ด ทอท.ไปพิจารณา ผลสรุปจึงได้มีการขยายสัญญาเช่าเท่ากันหมดกับธุรกิจในสนามบินที่ไม่ใช่สายการบินเป็นระยะเวลา 3 ปี

สำหรับกรณีขัดกับพ.ร.บ. ร่วมทุนฯ นายนิตินัยกล่าวว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ เพราะเป็นการลงทุนแค่ 800 ล้านบาท ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ตามที่บริษัทที่ปรึกษาได้ประเมิน

“เรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยนายศรีสุข จันทรางศุ (เสียชีวิต) เป็นประธานทอท.โดยคิงเพาเวอร์ ประมูลได้ 2 สัญญา คือ การบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ 2 หมื่นตารางเมตร และพื้นที่ดิวตี้ฟรีอีกไม่ตํ่ากว่า 5,000 ตารางเมตร ในส่วนของพื้นที่ส่งมอบสินค้าเป็นพื้นที่คิงเพาเวอร์ประมูลได้เมื่อสิบกว่าปีก่อน จึงไม่สามารถเปิดให้รายอื่นเข้าไปได้ ขณะนั้นยังไม่มีใครให้ความสนใจ และพูดถึงการเปิดบริการดิวตี้ฟรีดาวน์ทาวน์ หรือร้านค้าปลอดอากรในเมือง แต่ขณะนี้มีคนสนใจอยากเปิดแต่ทำไม่ได้ เพราะติดล็อกในเรื่องสัญญาสัมปทานกับคิงเพาเวอร์ที่ได้สัมปทานพื้นที่ไป”

สำหรับกรณีการติดตั้งระบบการขายหน้าร้าน (Point of Sale: PoS) นายนิตินัยกล่าวว่า มีมานานแล้ว แต่ในสัญญาไม่ได้ระบุว่า ต้องเป็นเรียลไทม์แต่แรกโดยวิธีปฏิบัติในแต่ละวันเมื่อขายสินค้าได้ คิงเพาเวอร์ จะส่งข้อมูลให้ทอท.และกรมสรรพากร
เพื่อนำไปคำนวณภาษีดูว่า จะเสียภาษีเท่าไหร่และใช้มาสิบกว่าปี หลังจากตนเข้ามารับตำแหน่งปี 2558 เห็นว่าน่าจะดี ในเดือนกรกฎาคมปี 2559 จึงได้เริ่มติดตั้งระบบเรียลไทม์ มีการชี้แจงต่อสตง.ไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามไปยังบริษัท คิงเพาเวอร์ฯ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ชี้แจงว่า ผู้บริหารปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลใดๆ โดยอ้างว่า เรื่องทั้งหมด ทอท.ได้ชี้แจงไปแล้ว

สำหรับรายได้กลุ่มคิงเพาเวอร์ปี 2559 เพิ่มขึ้น 25% รายได้รวม 8.5 หมื่นล้านบาท กว่า 70% เป็นรายได้จากดิวตี้ฟรีที่สนามบินหลัก 4 แห่ง และดิวตี้ฟรีในเมือง 3 แห่ง จากปี 2558 ที่กลุ่ม มีรายได้ 6.8 หมื่นล้านบาท เฉพาะธุรกิจดิวตี้ฟรีอยู่ที่ 5-6 หมื่นล้านบาท