ส่งออก Q3 ยาง-อัญมณี ยังหืดจับ!

10 พ.ค. 2560 | 13:39 น.
ส่งออกQ3 ยาง-อัญมณี ยังหืดจับ!

-10พค.60-หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3260 ระหว่างวันที่ 11-13 พ.ค.2560 สื่อในเครือสปริง กรุ๊ปรายงานว่า เอกซเรย์ออร์เดอร์ส่งออกไตรมาส 3 ยางพาราชี้แนวโน้มชะลอตัวจากจีนผู้นำเข้ารายใหญ่ซื้อตุนสต๊อกแล้ว กว่า 2.4 แสนตัน อัญมณีรับยังหืดจับตลาดใหญ่สหรัฐฯ-อียูเศรษฐกิจยังไม่ดี ภัยก่อการร้ายทุบซํ้าบรรยากาศซื้อขาย ขณะ “ข้าว-ไก่-เฟอร์นิเจอร์” ประสานเสียงทิศทางดีขึ้น

จากการส่งออกของไทยไตรมาสที่ 1/2560 ขยายตัวดีเกินคาดที่ 4.9% ขณะที่ไตรมาสที่ 2 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คาดจะเติบโตต่อเนื่องในอัตรา 5% จากคู่ค้าในต่างประเทศเร่งซื้อสินค้าทดแทนสินค้าคงคลังที่ลดตํ่าลงช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่คำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) เพื่อส่งมอบสินค้าในไตรมาสที่ 3 จะเป็นอย่างไรนั้น จากการตรวจสอบในหลายกลุ่มสินค้าพบทั้งสัญญาณบวก และลบ

นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากภาพรวมไตรมาสที่ 1-2 ของปีนี้จีนผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่สุดจากไทย (สัดส่วน 40-45% ของภาพรวม) ได้สั่งซื้อสินค้าเข้าไปเก็บสต๊อกเพิ่มขึ้น จากปลายปีสต๊อกยางในจีนลดลงเหลือระดับ 5 หมื่นตัน แต่ ณ ปัจจุบันได้ซื้อเข้าเก็บสต๊อกเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 แสนตัน (เคยสต๊อกสูงสุดในปี 2557 ที่ 3.6 แสนตัน) จึงคาดการนำเข้ายางพาราของจีนในไตรมาสที่ 3 ที่กำลังเริ่มเจรจาจะชะลอตัวลง

นอกจากนี้ยังเป็นผลจากจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกสหรัฐฯสั่งตรวจสอบเรื่องการขาดดุลการค้าที่สหรัฐฯขาดดุลให้จีนมากเป็นอันดับ 1 (ขาดดุล 3.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2559) ซึ่งจะทราบผลในปลายเดือนนี้ ทำให้สินค้าจีนมีความเสี่ยงที่อาจถูกสหรัฐฯใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า ประกอบกับราคานํ้ามันในตลาดโลกเริ่มลดลง ส่งผลถึงราคายางลดลงตาม กำไรของผู้ค้าลดลง 2 ปัจจัยหลังนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้จีนไม่มั่นใจและอาจชะลอการนำเข้า

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า จากการส่งมอบข้าวให้คู่ค้าในต่างประเทศของผู้ส่งออกไทยที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน ต่อเนื่องเดือนพฤษภาคมไปถึงมิถุนายน โดยหลายตลาดได้หันกลับมาซื้อข้าวไทย เช่น อิหร่าน ตะวันออกกลาง รวมถึงหลายประเทศในลาตินอเมริกาที่ผลผลิตข้าวภายในไม่ค่อยดีได้มาสั่งซื้อข้าวไทยส่วนหนึ่ง ประกอบกับเวลานี้สต๊อกข้าวของรัฐบาลไทยเหลือน้อยแล้ว (เหลือ 4.8 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นข้าวคุณภาพที่คนบริโภคได้เหลือเพียง 1.7 ล้านตัน) ส่งผลให้ลูกค้าในต่างประเทศมีการสั่งซื้อข้าวไทยเพื่อไปเก็บสต๊อกเพิ่มขึ้น

“คำสั่งซื้อข้าวในไตรมาสที่ 3 มีทิศทางที่ดี และราคาข้าวที่ไทยขายได้แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยข้าวขาว 5% จากที่เคยลงไปตํ่าสุดที่ 345 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (ราคาเอฟโอบี) ณ ปัจจุบันปรับขึ้นมาอยู่ที่ 385 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ในส่วนข้าวนึ่งเวลานี้มีออร์เดอร์จากไนจีเรียเข้ามาเยอะมาก ซึ่งเป็นผลดีกับไทยเพราะอินเดียคู่แข่งขันสำคัญได้ลดการส่งออกข้าวนึ่ง อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยที่ต้องจับตามองคือ ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามเวลานี้ขายอยู่ที่ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ถ้าราคาห่างข้าวไทยมาก ออร์เดอร์ข้าวขาวอาจไหลไปเวียด นามเพิ่ม”

ในสินค้าไก่ นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เผยว่า การส่งออกสินค้าไก่ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหลักสัดส่วน 50% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ยังมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น จากเศรษฐ กิจญี่ปุ่นที่ปรับตัวดีขึ้น และภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัว ส่วนตลาดสหภาพยุโรป (อียู) อีก 1 ตลาดใหญ่ คาดจะเร่งนำเข้าก่อนสิ้นสุดปีโควตาภาษีในเดือนมิถุนายนนี้ และอาจทำให้การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลง ก่อนกลับมาคึกคักอีกครั้งในไตรมาสที่ 4

ส่วนนายวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินระบุว่า แนวโน้มคำสั่งซื้อ เครื่องประดับเงินรวมถึงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมไตรมาสที่ 3 ยังไม่ดี จากตลาดสำคัญทั้งสหรัฐฯ และอียู เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นจริง และยังมีปัจจัยลบจากภัยก่อการร้ายในยุโรปเป็นระยะกระทบต่ออารมณ์การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจกระทบคำสั่งซื้อ

ส่วนนายมานะผล ภู่สมบุญ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาห กรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าจากที่พูดคุยกันในหลายบริษัท มองว่าการส่งออกในไตรมาสที่ 3 น่าจะดีขึ้น จากส่วนใหญ่ได้รับคำสั่งซื้อในช่วงงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (TIFF 2017) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเริ่มทยอยส่งมอบช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ คาดทั้งปีนี้การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยจะขยายตัวได้ที่ 3-5% จากปีที่แล้วส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 3.8 หมื่นล้านบาท