หวังสัมพันธ์ 184 ปี สหรัฐฯเข้าใจไทยแจงขาดดุล

10 พ.ค. 2560 | 06:00 น.
การมารับตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ในห้วงที่ประเทศไทยยังมีปัญหาต่างๆมากมายถือเป็นภาระอันหนักอึ้ง ทั้งปัญหาปากท้องของประชาชน ปัญหาราคาสินค้าเกษตรหลายรายการที่ยังตกต่ำ เรื่องการส่งออกที่แม้ไตรมาสแรกปีนี้จะยังขยายตัวได้ดี(ขยายตัว4.9%) แต่ในไตรมาสที่เหลือก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มากทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ ประเด็นหลัก ๆ เหล่านี้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้กำกับดูแลจะมีทิศทางในการทำงานหรือแนวทางการรับมืออย่างไร "วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์"ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ดังรายละเอียด

-แจงมะกันไทยไม่กีดกัน
เริ่มจากกรณีประธานาธิบดีโดนัลล์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งพิเศษ (Executive Order) ให้มีการตรวจสอบสาเหตุของการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯในปี 2559 กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยเพื่อหามาตรการตอบโต้ทางการค้าต่อไปนั้น เรื่องนี้"วิบูลย์ลักษณ์"กล่าวว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือกับภาคเอกชนไปแล้วเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในวันที่ 10 พฤษภาคม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ให้ 13 ประเทศส่งกลับแบบสอบถามเกี่ยวกับนโยบายการค้าด้านต่างๆ ของแต่ละประเทศไปยังสหรัฐฯ

"ข้อมูลที่ไทยส่งไปได้ชี้แจงว่า เราไม่มีนโยบายการค้าที่เลือกปฏิบัติ ไม่มีนโยบายด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีที่ดำเนินการขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) จึงไม่มีนโยบายกีดกันการค้ากับสหรัฐฯ เรามีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ กับสหรัฐฯ ภายใต้สนธิสัญญาไมตรีไทย-สหรัฐฯ ที่ส่งเสริมให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์มากกว่าประเทศอื่นๆ"

นอกจากนี้ได้ชี้แจงไปว่า ไม่ใช่สหรัฐฯขาดดุลการค้าไทยฝ่ายเดียว ไทยเองก็ยังเคยขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯเช่นกัน อีกทั้งสาเหตุของการขาดดุล มาจากสหรัฐฯนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากไทยจำนวนมาก เพราะสหรัฐฯผลิตเองไม่ได้ และเอกชนของสหรัฐฯก็มาลงทุนในไทยจำนวนมากเพื่อผลิตและส่งออกกลับไปยังสหรัฐฯ หรือเพื่อส่งออกไปประเทศที่ 3 เช่น ยางรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งสหรัฐฯเองก็ได้ประโยชน์

"เรื่องการค้าที่ไทยเกินดุลจนทำให้สหรัฐจะกีดกันทางการค้าไทย เราเองมีการหารือและพูดถึงจุดที่สหรัฐไม่เข้าใจไทย และมั่นใจว่าสหรัฐจะเข้าใจในสิ่งที่ไทยชี้แจงไป เพราะเราทำการค้ากับสหรัฐมานานและมีสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันกว่า 100 ปี ซึ่งสหรัฐเองก็เริ่มเข้าใจไทยมากขึ้น ก็ไม่น่ากังวลมาก"

-สหรัฐฯคู่ค้าอันดับ3
สำหรับสหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย(ส่งออก+นำเข้า) รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยในปี 2559 การค้าไทย-สหรัฐฯ มีมูลค่า 3.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย(หากไม่นับรวมอาเซียน 9 ประเทศ) ขณะที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 2.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และสหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่านำเข้า 1.20 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้สหรัฐฯจะรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากประเทศที่ได้ดุลการค้า ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

-ยังมั่นใจส่งออกโต3-5%
"แม้จะมีประเด็นการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ แต่กระทรวงพาณิชย์ซึ่งดูแลภาคการส่งออกยังมั่นใจการส่งออกของไทยในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ขยายตัวที่ 3-5% โดยในครึ่งปีหลังนี้จะเร่งขยายตลาดเชิงรุกเน้นการเจาะลึกตลาดเป็นรายประเทศโดยเริ่มจากอาเซียนและขยายไปสู่ประเทศพันธมิตรของอาเซียนไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย รัสเซีย และCIS ซึ่งปีนี้จะเน้นบุกตลาดเมืองรองให้มากขึ้นส่วนตลาดหลักก็ยังคงรักษาอยู่ รวมไปถึงผลักดันให้เอกชนพัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรมเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด"

-อัดธงฟ้าลดค่าครองชีพ
ปลัดพาณิชย์ยังกล่าวถึง แผนงานการดูแลค่าครองชีพซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักของกระทรวงว่า จากการประเมินสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในครึ่งปีหลังส่วนใหญ่ยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก เพราะราคาวัตถุดิบสำคัญๆที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศยังมีราคาทรงตัวและยังไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคา ส่วนกลุ่มอาหารสด อย่างผัก ผลไม้ ยังมีราคาผันผวนตามฤดูกาล ทั้นอกจากนี้เตรียมจัดงานธงฟ้าราคาประหยัดลดค่าครองชีพประชาชนทั่วประเทศ อีก 537 ครั้งเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

-ส่งออกข้าวQ2ยังโต
ขณะที่การผลักดันการส่งออกข้าว ล่าสุดจากเดือนมกราคมถึง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้แล้ว 3.70 ล้านตัน มูลค่า 1,557 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 5.44 หมื่นล้านบาท ราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไตรมาส2 คาดการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผู้ส่งออกยังคงมีความต้องการส่งมอบข้าวให้กับผู้ซื้อในแถบแอฟริกาและเอเชียอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับตลาดในตะวันออกกลางอีกหนึ่งตลาดหลักยังมีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อสำรองข้าวไว้ในช่วงก่อนเข้าเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ดังนั้นมั่นใจว่าเป้าส่งออกข้าวที่ตั้งไว้ 10 ล้านตันน่าจะได้ตามเป้า

-ข้าวจีทูจีจีนเดินหน้า
"ส่วนการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีกับทางการจีนปริมาณ 1 ล้านตัน ภายใต้สัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม2558 ใน 1 ล้านตันที่ 2 กับคอปโก้ของจีน ยขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งมอบข้าวในงวดที่ 3 และ 4 รวม 2 แสนตัน คาดน่าจะส่งมอบได้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนี้ ขณะที่การเปิดประมูลระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ล่าสุดได้เปิดประมูลข้าวกลุ่มที่3ที่เป็นข้าวสำหรับอุตสาหกรรมเท่านั้นปริมาณ 1.03 ล้านตันซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมอนุกรรมการพิจารณาบายข้าว ว่าจะอนุมัติขายหรือไม่"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,260 วันที่ 11 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560