วงศ์บัณฑิต ร่อนหนังสือร้อง"อุตตม"   อ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม

08 พ.ค. 2560 | 09:55 น.
 

บิ๊ก"วงศ์บัณฑิต" ร่อนหนังสือร้อง "อุตตม" ขอความเป็นธรรม อ้างวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาโรงงานได้ส่งหนังสือให้เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดอุดร เข้ามาทดลองระบบ  ยันไม่มีกลิ่น ผ่านมาตรฐาน แต่โรงงานยางแท่ง อุดรฯ ยังถูกสั่งปิดต่อเนื่อง ผวาคำสั่งมิชอบ วอนตรวจสอบ  หวั่นกระทบคนงานกว่า 500 คน-ชาวสวนยาง 1.2 ล้านคนไม่มีที่ขายช่วงเปิดกรีด

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทางกระทรวงได้รับหนังสือจากนายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการบริษัท บริษัท วงศ์บัณฑิต อุดรธานีจำกัด  ร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมและอุทธรณ์หนังสือสั่งให้หยุดปรับปรุงโรงงาน ที่ อด 0033(3)/60 1  และ อด 0033(3)/602 ซึ่งมิชอบและไม่ถูกต้อง ได้แก่ 1.บริษัทปฎิบัติตามหนังสือให้ปรับปรุงโรงงานตามมาตรา 37 เลขที่ อด 0033(3)/266 ตลอดจนการปฎิบัติตามคำแนะนำปรับปรุงระบบบำบัดอากาศของผู้เชี่ยวชาญสำนักอุตสาหกรรมจังหวัดครบถ้วนทุกประการ

2.บริษัทดำเนินกิจการโรงงานยางพารามากว่า 30 ปี มีการตรวจร่างกายลูกจ้างตามปัจจัยเสี่ยงตามกฎหมาย ไม่เคยมีลูกจ้างที่ป่วยจากการทำงาน ส่วนการบันทึกข้อความกลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีในบทวิเคราะห์และสรุปว่าการคัดกรองอาการทางสุขภาพทางระบบทางเดินหายใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 6 หมู่บ้าน เป็นการสำรวจแบบสอบถามเท่านั้น เมื่อมีการตรวจร่างกายไม่พบอากาการแสดงออกร่างกายที่สูงกว่าปกติ ซึ่งชี้ชัดได้ว่าไม่มีผลที่จะก่อให้เกิดอันตรายความเสียหายและเดือดร้อนอย่างร้ายแรงตามมาตรา 39 วรรค 1

อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้เคารพในมติที่ประชุมในวันที่ 18 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ที่ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้พาผู้แทนบริษัทไปดูตัวอย่างการแก้ไขปัญหากลิ่นโรงงานที่จังหวัดระบบ ซึ่งใช้ระบบบำบัดอากาศแบบ Bio Filter บริษัทได้ปรับปรุงการแก้ไขปัญหากลิ่นตามคำแนะนำทุกประการ จนกระทั่งแน่ใจแล้วว่าขจัดปัญหาทุกอย่างได้ ทางบริษัทจึงขอทดลองการอบยางแท่ง STR 20 เพื่อทดลองระบบกลิ่นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมภาค 9 และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาคำเข้าตรวจสอบร่วมด้วย ผลการทดลองเดินเครื่องพบว่ามี ประสิทธิภาพดีมากและไม่มีกลิ่นใดๆ แต่ในวันที่ 2 พฤษภาคม กลับได้รับการประสานงานให้หยุดทดสอบระบบไว้ก่อนทางบริษัทจึงได้หยุดดำเนินการทดสอบระบบทันที ซึ่งจากผลการสั่งปิดปรับปรุง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งกลุ่มลูกจ้างกว่า 500 คนและชาวสวนยางกว่า 1.2 ล้านคนจากคำสั่งมิชอบและไม่ถูกต้องดังกล่าวนี้ ดังนั้นจึงได้ทำหนังสือถึงนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐว่าให้ความเป็นธรรมต่อเอกชนหรือไม่ อย่างไร

ขณะที่ นายเสนี จิตตเกษม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)(บอร์ด) และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวสั้นถึงผลกระทบจากการปิด 2 โรงงานใหญ่ในจังหวัดนั้นไม่มีผลกระทบเนื่องจากชาวสวนรายย่อยส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าคนกลางไปซื้อยางพาราถึงไร่ มองว่าการปิด 2 โรงงานเหมาะสมแล้วที่จะต้องปรับปรุง เนื่องจากพื้นที่โรงงานติดอยู่กับชุมชนทำให้ประชาชนเดือดร้อน และต่อไปนี้ในฐานะที่อยู่ในบอร์ดจะรณรงค์ให้โรงงานประกาศไม่รับซื้อน้ำยางก้อนถ้วยจากเกษตรกร ให้รับยางแผ่นเหมือนภาคใต้จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น และเป็นการเพิ่มมูลค่าทำให้เกษตรกรขายยางได้ราคาที่สูงขึ้น

สอดคล้องกับนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เห็นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาทาง สยยท.พยายามรณรงค์ให้เกษตรกรขายยางแผ่นดิบมาโดยตลอด แต่สาเหตุที่เกษตรกรยังทำไม่ได้ เพราะต้องมีการลงทุนเพิ่มทั้งเครื่องจักร และอุปกรณ์อื่นๆ รวมทั้งน้ำยา เป็นต้น เงินลงทุนเริ่มต้น 5 หมื่นบาทขึ้นไป ใครจะไปบีบบังคับให้ลงทุนเพิ่ม  หรือ กยท.ควรทางออก อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรกู้ โดยให้เกษตรกรเข้าถึงทุกครัวเรือน ผ่อนปรนเงื่อนไข ให้เกษตรกเข้าถึงง่ายกว่าสถาบันการเงินทั่วไป จะช่วยเหลือเกษตรกรได้จริง