บีซีพีจีรุกขึ้นแท่นผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเอเชีย

26 เม.ย. 2560 | 09:38 น.
บีซีพีจี อัดงบ 1.23 หมื่นล้านบาท ขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซียรวม 3 โครงการ กำลังการผลิต 182 เมกะวัตต์ ผ่านการซื้อหุ้นบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ คาดว่าจะซื้อขายแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นในธุรกิจพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซีย และให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นต่อไป
การลงทุนในครั้งนี้จะทำให้บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพเทียบเท่า 182 เมกะวัตต์ โดยโครงการทั้งหมดจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำที่ผลิตได้ให้แก่การไฟฟ้าอินโดนีเซีย (PLN) ภายใต้สัญญารับซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาว ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 3 โครงการคือ 1) โรงไฟฟ้า Wayang Windu กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 347 เมกะวัตต์ (เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 227 เมกะวัตต์) ด้วยสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 20 2) โรงไฟฟ้า Salak กำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมเทียบเท่า 377 เมกะวัตต์ ร้อยละ 17.3 และ 3) โรงไฟฟ้า Darajat กำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมเทียบเท่า 271 เมกะวัตต์ ร้อยละ 17.3 ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า Salak และ โรงไฟฟ้า Darajat ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด

บีซีพีจีจะใช้เงินลงทุนในครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 357.5 ล้านเหรียญหรือประมาณ 12,341 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากกระแสเงินสดภายในบริษัทร่วมกับเงินกู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้มีสถาบันการเงินชั้นนำหลายรายได้ให้ความสนใจเสนอเงินกู้สำหรับโครงการดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าจะซื้อขายเสร็จสิ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 และเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันที โดยบริษัทฯ จะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2560 ในวันอังคารที่ 13 มิถุนายนนี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นต่อไป

“บริษัทฯ มั่นใจว่าการลงทุนครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อความมั่นคงของบริษัทฯ ในระยะยาว สอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตในการขยายธุรกิจไปยังพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ ครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เพิ่มเติมจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในประเทศไทย ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ บีซีพีจี นับเป็นบริษัทในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นแนวหน้าของไทยที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความเสถียร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคเฉพาะในการขุดเจาะ โดยจุดแข็งของบีซีพีจีคือสามารถต่อยอดจากความเชี่ยวชาญในธุรกิจสำรวจและผลิตของกลุ่มบางจากฯ ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะทำให้บีซีพีจีมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้นกว่า 600 เมกะวัตต์ แต่ถ้าเทียบเงินลงทุนและความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพที่เป็นสามเท่าของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว อาจกล่าวได้ว่าเราจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่ากับพลังงานแสงอาทิตย์รวมเกือบ 1,000 เมกะวัตต์” นายบัณฑิตกล่าวทิ้งท้าย