พลังงานจากรางรถไฟ

20 ส.ค. 2559 | 12:00 น.
เวลาเรายืนรอรถไฟอยู่บนชานชาลา เมื่อถึงเวลารถไฟวิ่งมาจอดเทียบเพื่อรับ-ส่งผู้โดยสาร นอกจากเสียงรถไฟที่เคลื่อนเข้ามาแล้ว เรามักจะรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของล้อเหล็กที่บดขยี้ลงบนราง แรงสั่นสะเทือนนั้นเป็นพลังงานจลน์ที่สูญเปล่าไปทุกๆวัน หากไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์อะไร

แต่อาจมีคำถามตามมาว่า แล้วเราจะเอาแรงสั่นสะเทือนจากรางรถไฟนั้นมาทำอะไรได้หรือ คำตอบนั้นคือ ทำได้ และทีมงานนักวิจัยของมหาวิทยาลัย สโตนี่ บรุค ในสหรัฐอเมริกา ก็ทำได้สำเร็จถึงขนาดได้รับรางวัลมาแล้วจากงานวิจัยครั้งนี้ นั่นคือการคิดค้นอุปกรณ์ที่จะสามารถเปลี่ยนพลังงานจากแรงสั่นสะเทือนให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า แล้วนำกระแสไฟฟ้าที่ได้นั้นไปใช้กับอุปกรณ์ต่างๆของสถานีรถไฟ เช่น ป้ายไฟให้สัญญาณ ระบบไฟฟ้าควบคุมไม้กั้นรถ และระบบสวิตช์สับรางรถไฟ เป็นต้น

[caption id="attachment_86465" align="aligncenter" width="500"] รถไฟ รถไฟ[/caption]

โครงการวิจัยที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย สโตนี่ บรุค และอีกหลายองค์กรพันธมิตรในสหรัฐฯ เป็นการจุดประกายให้เกิดความหวังว่าภายในอนาคตข้างหน้า สถานีรถไฟทั่วสหรัฐอเมริกาจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้จากการเก็บกักพลังงานจากแรงสั่นสะเทือนของรางมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในแต่ละสถานี ซึ่งน่าจะประหยัดเงินไปได้รวมๆหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งยังเป็นการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานทางเลือกที่ช่วยลดการสร้างก๊าซโลกร้อนอีกด้วย

ทั้งนี้ สหรัฐฯนั้นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเครือข่ายเส้นทางรถไฟระยะทางรวมๆกันยาวที่สุดในโลก คือยาวประมาณ 140,700 ไมล์ หรือประมาณ 225,120 กิโลเมตร หลายสถานีรถไฟตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งเครือข่ายการจ่ายกระแสไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ทั่วถึง โครงการวิจัยดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เทคโนโลยีชิ้นโบแดงที่ได้รับรางวัลชิ้นนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า MMR ซึ่งย่อมาจาก Mechanical Motion Rectifier based Railroad Energy Harvester มีการติดตั้งอุปกรณ์ลักษณะคีมคีบเข้ากับเหล็กรางรถไฟ อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถแปลงพลังงานจลน์ที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือนในแนวดิ่งให้กลายเป็นพลังงานที่เคลื่อนไปในทิศทางเดียวในลักษณะการหมุนรอบเพื่อหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยพลังงานไฟฟ้าที่ได้เป็นไฟฟ้ากระแสตรง 200 วัตต์

โครงการนี้ได้รับรางวัลระดับชาติภายในงานประชุม Energy Harvesting and Storage USA ในปี ค.ศ. 2012 ทีมวิจัยได้ทำสัญญาสิทธิบัตรอนุญาตให้บริษัท อิเล็กทริก ทรัค แอลแอลซี/ฮาร์เวสต์ เอ็นอาร์จี นำไปใช้โดยได้รับความสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานแห่งรัฐนิวยอร์ค และซันนี่ รีเสิร์ช ฟาวเดชั่น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559