แอปสุดลํ้า “Sleepmore” ลดเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ

13 พ.ค. 2564 | 02:53 น.

ม.อ. พัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ ภายใต้ชื่อ “Sleepmore” เทคโนโลยีสุดลํ้าผู้ช่วยคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเชิงรุก

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับหลายๆ คน ขณะที่การเฝ้าระวังยังทำได้ยาก ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ร่วมและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จึงร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ ภายใต้ชื่อ “Sleepmore” เทคโนโลยีสุดลํ้าผู้ช่วยคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเชิงรุก ซึ่งมีประสิทธิภาพการคัดกรองรวดเร็วถึง 93% เป็นตัวช่วยที่น่าสนใจสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว


ผศ.พญ.กรองทอง ถาวรานุรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ผู้อำนวยการศูนย์บริการตรวจรักษาและวิจัยปัญหาการนอน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในประเทศไทย พบมากถึง11% ของประชากรวัยกลางคนหรือช่วงอายุ30-60 ปี โดยเฉพาะเพศชายและคนที่มีภาวะอ้วนจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่าเพศหญิง หรือคนผอม


สำหรับอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น สังเกตุได้จากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการนอนกรนเสียงดังไม่สมํ่าเสมอดังๆ หยุดๆ มีอาการง่วงนอนมากผิดปกติในช่วงกลางวัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา และปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีอาการของการนอนที่ไม่มีคุณภาพเรื้อรัง ไม่สดชื่น ง่วงนอนกลางวัน ส่งผลต่อการทำงาน สมาธิ ความจำ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานสูง


นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคภาวะหลอดเลือดและหัวใจสูงขึ้น ซึ่งการรักษามีหลายวิธี ได้แก่ การลดนํ้าหนัก การปรับท่านอน การปรับวิถีชีวิตและสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี การใช้ยา การใส่ครอบฟัน และการเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกหายใจ
แอปพลิเคชัน “Sleepmore” ที่พัฒนาขึ้นมีฟีเจอร์ในการคัดกรองเชิงรุกเพื่อหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที

แอปสุดลํ้า “Sleepmore” ลดเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ

สำหรับการพัฒนา “Sleepmore” แอพลิเคชั่นที่ในอนาคตอาจกลายเป็นผู้ช่วยคุณหมอในการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นนี้ รศ.ดร.สินชัย กมลภิวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเบื้องหลังกว่าจะมาเป็น “Sleepmore” ว่า ทีมงานเริ่มจากการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยย้อนหลัง 1,000 คน ตั้งแต่การนอน อาการแสดงของโรค และผลตรวจที่ผิดปกติ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค

พร้อมกับนำปัจจัยเสี่ยงสร้างเป็นโมเดลและสร้างเป็นแอปพลิเคชัน เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ซึ่งใช้ระยะเวลาการคัดกรองรวดเร็ว 93% ในรูปแบบการสอบถาม 6 ข้อในการคัดกรองที่เหมาะสมกับประชากรชาวเอเชีย โดยสามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนทั้ง IOS และ Android
 

จุดประสงค์หลักของ แอปพลิเคชัน “Sleepmore” ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่ขับรถสาธารณะ และอาชีพที่ต้องใช้สมาธิกับเครื่องจักรกล มีฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถรับชมวิดีโอกายบริหาร พร้อมมีระบบแจ้งเตือนการทำกายบริหาร และการแสดงคะแนนเพื่อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงตํ่า ปานกลาง และสูง

ถ้าผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงจะต้องได้รับการวินิจฉัยกับแพทย์ แต่หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงตํ่าจะให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้น และให้ความรู้เกี่ยวกับโรค ความสำคัญของโรค การดูแลตนเองเรื่องการรักษาเสียงกรน ปรับสุขนามัยการนอนที่ดี และการออกกำลังกายกล้ามเนื้อช่วงคอ

นอกจากนี้ยังใช้งานเพราะ มีฟีเจอร์ที่ผู้ป่วยสามารถนำไปใช้ได้ด้วยตนเอง การใช้งานไม่ยุ่งยากทำให้ผู้ใช้สะดวกสบายและผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถนำไปต่อยอดดูแลสุขภาพของตัวเองได้ นอกจากนี้ทางทีมพัฒนายังตั้งใจที่จะผลักดันแอปพลิเคชันนี้สู่ชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) ระดับตำบลและอำเภอ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ไปจนถึงดำเนินการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอีกด้วย


หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,676 วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง