“อาภรณ์-อาหาร-อาคาร” เมืองเก่า เติมสีสัน เพิ่มคุณค่า

24 ก.พ. 2564 | 12:25 น.

ปั่นจักรยานยลเมืองเก่าภูเก็ต กันไปแล้วก็มารู้จักอาหารพื้นเมือง สินค้าชุมชน เพิ่มกันอีกนิด เพราะขณะนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ กสอ. ได้เข้าไปช่วยสนับสนุน ส่งทั้งทีมนักวิชาการสร้างสรรค์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เข้าไปขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าของฝากให้มีประสิทธิภาพ ดูดีน่าจับต้องมากยิ่งขึ้น

หนึ่งในของฝากขึ้นชื่อของภูเก็ต คือ ผ้าบ่า บ๋า ย่าหยา ผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นที่ใช้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ เครื่องประดับตกแต่งบ้าน-โรงแรม ของที่ระลึก แถมยังปรับรูปแบบเสื้อผ้าให้ทันสมัย โดยใช้ความเชี่ยวชาญเดิมของชุมชนในการทำผ้าบาติก พัฒนาลวดลายและรูปทรงให้น่าจับต้องน่าใช้มากยิ่งขึ้น

“อาภรณ์-อาหาร-อาคาร” เมืองเก่า เติมสีสัน เพิ่มคุณค่า

“อาภรณ์-อาหาร-อาคาร” เมืองเก่า เติมสีสัน เพิ่มคุณค่า

พัฒนาสินค้าแล้ว ก็ต้องพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว “สุขกาย-สุขใจ” ควบคู่กันไปด้วย ทั้งอาคาร อาหาร อาภรณ์ เช่น พิพิธภัณฑ์ไทยหัว ที่อดีตเคยเป็นโรงเรียนภาษาจีนแห่งแรกในภูเก็ต, หมอเหลา อาคารบ้านเรือนแบบลูกผสมชิโน-ยูโรเปียน, บ้านเลขที่ 88 หรือ อี้โป้เต้ง พิพิธภัณฑ์เก็บข้าวของเก่าแก่ รวมทั้งบ่อน้ำโบราณแบบจีนที่อยู่กลางบ้าน, โรงตีเหล็กไต่สุ้นอั้น ที่ยังเปิดดำเนินการตีเหล็กแบบดั้งเดิมให้นักท่องเที่ยวได้รับชม และบ้านขุนนิเทศจีนารักษ์ จุดแวะพักจิบชากับขนมปุ้นแต่โก้ย รวมทั้งส่งเสริมการจัดถนนคนเดินหลาดใหญ่ อยู่บริเวณถนนถลาง เป็นถนนคนเดินที่แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศอาคารเก่า สร้างจุดดึงดูดในกับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ซึ่งการพัฒนาการท่องเที่ยวในครั้งนี้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้กว่า 60% เลยทีเดียว

ส่วนอาหารขึ้นชื่อ หมี่ฮ๊กเกี้ยน ก็พัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ที่นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อไปประกอบอาหารทานเองได้ที่บ้าน หรือจะซื้อเป็นของฝาก เช่นเดียวกับหมี่โคราช ซึ่งคราวนี้ไม่ใช่แค่ทำตลาดในประเทศ แต่ยังสามารถขยายไปตลาดต่างประเทศได้ด้วย

 

“อาภรณ์-อาหาร-อาคาร” เมืองเก่า เติมสีสัน เพิ่มคุณค่า

“อาภรณ์-อาหาร-อาคาร” เมืองเก่า เติมสีสัน เพิ่มคุณค่า

 

การพัฒนาที่เป็นรูปธรรม เพิ่มทั้งคุณค่าและมูลค่าให้กับ “อาภรณ์ - อาหาร - อาคาร” แบบครบทุกมิติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ภูเก็ต กลับมามีชีวิตชีวาถึงระดับชุมชนกันเลย แม้ปัจจุบันการท่องเที่ยวยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้เต็มรูปแบบ แต่ กสอ. มีแพลตฟอร์มออนไลน์ DIProm มาร์เก็ตเพลส เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการในทุกชุมชนสามารถเข้าขายตรงกับผู้บริโภคได้เลย

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  หน้า 24 ฉบับที่ 3,655 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564