มองชายหาด อนาถใจ หน้า "รีเจนท์ชะอำ"

06 มิ.ย. 2563 | 04:45 น.

"ศศิน เฉลิมลาภ” อนาจใจ หน้ารีเจนท์ชะอำ ความพินาศของการพัฒนาโครงการป้องกันชายฝั่งผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต

"ศศิน เฉลิมลาภ” ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับแนวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

ศศิน เฉลิมลาภ


มองชายหาดอนาถใจหน้ารีเจนท์ชะอำ
    โดยโพสต์ว่าโรงแรมเก่าแก่ รากฐานของเศรษฐกิจไทยจากการท่องเที่ยวในยุคบุกเบิก
    น่าเห็นใจที่แทบจะมลายพินาศเพราะการพัฒนา โครงการป้องกันชายฝั่งผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต หลังพายุลินดาเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว

ภาพจากเฟซบุ๊ก "ศศิน เฉลิมลาภ"
    ใต้หาดนี้ไปคือที่ตั้งของอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
    หลังจากพายุลินดาเข้าฝั่ง ต้นสนล้ม ฝั่งเสียหาย เป็นโอกาสใหญ่ของนักวิชาการและหน่วยงานราชการจะได้

"ลองวิชา"
    กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยนั้นซึ่งมีสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นหน่วยงานต้นเรื่องร่วมกับกรมเจ้าท่า
    กระโจนใส่ปัญหาอย่างหวังดี แต่ประสงค์ร้ายหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ
    ออกแบบโครงการได้อย่างเสียหลายอย่าง อย่างชาญฉลาด
     ทำแพ็คเก็จถมหินกันชายฝั่งอ้างป้องกันโบราณสถานอย่างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันพัง

ภาพจากเฟซบุ๊ก "ศศิน เฉลิมลาภ"
     จริงๆ ทำอย่างเดียวก็พอแล้ว แต่นี่ใส่เกราะเสียสี่ชั้น
     ซ่อมกำแพงเดิมของพระราชนิเวศน์ 1 ชั้น
      ทำลานหินทิ้งหน้ากำแพงเพื่อกันคลื่นเซาะฐานรากอีก 1 ชั้น
       สร้างคันดักทรายด้วยกองหินยื่นไปในน้ำ 8 คัน เพื่อดักทราย มาเป็นเกราะชั้นที่ 3

ภาพจากเฟซบุ๊ก "ศศิน เฉลิมลาภ"
       ที่นอกฝั่ง มีกองหินวางขนานฝั่งเพื่อกันคลื่นวิ่งหาฝั่งอีก 1 ชั้น
        ระบบป้องกันสี่ชั้นนี้เกินความจำเป็นไปมาก 
       แต่อ้างว่า เพื่อจะได้เป็นต้นแบบ สำหรับประเทศไทยได้มาดูงานป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติฯ จะได้เอารูปแบบสักอย่างสองอย่างไปทำบ้าง


     เป็นโชว์รูมการถมหินชายหาด (หน้าวัง) ว่างั้นเหอะ
      ไอ้ที่ว่ามาทั้งหมดยังไม่ร้ายเท่า 
"ของแถม"
     ของแถมที่ว่าคือเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ 4 แท่งยาวยื่นไปที่ปากคลองสองคลองสองด้านของโครงการ
     แต่แรกก็ได้ยินว่าเพื่อให้ชาวบ้านเอาเรือมาจอดหลบคลื่นลม แต่พอเอาจริงบอกว่าเป็นพื้นที่ฝึกของตำรวจตระเวนชายแดน อย่าเข้ามาจะดีกว่า 
     เขื่อนนี้ทำหน้าที่กั้นทรายที่จะปิดปากร่องน้ำเพื่อให้น้ำทะเลเข้ามาได้ตลอดปี
     เอาน้ำเค็มเข้ามาทำลายพื้นที่ดอนตะกาดทรายด้านใน เพื่อจะได้ทำโครงการให้คนมาช่วยกัน

 "ปลูกป่าชายเลน"

เอาชื่อใครมาอ้างก็รู้ๆกัน 

งบ CSR. มากมาย ละลายลงในโคลนที่ปลูกป่าตรงนี้

เป็นแปลงปลูกป่าที่น่าจะ "แพง" ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกทีเดียวละ

เอาเถอะ ไม่เป็นไร หรอกที่ว่าๆมานะทางใครทางมัน

แต่ผลกระทบของโครงสร้างทั้งหมดที่ว่า มันกักทรายที่มากับกระแสน้ำเลียบฝั่งที่พัดขึ้นด้านเหนือไว้เกือบหมด โดยเฉพาะเขื่อนปากคลองที่เอาไว้ดึงน้ำเค็มมาปลูกป่า 

ทำให้ชายหาดด้านเหนือที่เราเห็นกระสอบขาดวิ่นอยู่นี่กัดเซาะไงละ

กรมเจ้าท่าก็รู้ว่าผลกระทบเรื่องนี้มีแน่ ก็เลยมีของแถมสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งให้หมู่บ้านด้านเหนือที่ประชิดโครงการอีกนี่เอง ชาวบ้านบางส่วนดีใจได้ประโยชน์ไว้จอดเรือ การกัดเซาะก็น้อยเพราะมีทรายงอกไปเชื่อมกองหินนอกฝั่ง เป็นอ่าวโค้งวงๆแบบแถวมาบตาพุด

แต่นั่นยิ่งซ้ำเติมหาดด้านเหนือขึ้นไป เพราะทรายที่ควรจะเหลืออยู่บ้างที่จะไหลขึ้นเหนือก็ถูกกักอยู่เป็นทรายงอกหลังกองหินสี่กอง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือทรายงอกหน้าร้านอาหารชื่อดังแถวนี้ คือ ร้านปลาทู (วันนี้เทปูนทำลานยื่นไปยึดหาดเรียบร้อยแล้วนะจ๊ะ)

คราวนี้หาดหน้าโรงแรมรีเจนท์และโรงแรมอื่นๆก็ถึงคิวโดนกัดเซาะ

สมัยนั้นกระแสโลกร้อนเริ่มฮิต....

สงสัยน้ำทะเลจะท่วมแล้วละมั๊ง น้ำแข็งกรีนแลนด์ยิ่งละลายเร็วๆอยู่ด้วย

คลื่นกัดเซาะพรวดๆเข้ามาหลายเมตร ทั้งๆที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สมัยนั้นยังวัดว่าน้ำมหาสมุทรขยับขึ้นมาเป็นมิลลิเมตรเท่านั้น

โรงแรมรีเจนท์ของความช่วยเหลือไปยังกรมเจ้าท่า

แน่นอนว่าเขาไม่อยากได้กำแพงหินเพราะเป็นหาดท่องเที่ยว

โครงการ "เติมทราย" ก็บังเกิดขึ้นยาวไป 1 กิโลเมตร ราคาร้อยกว่าล้านบาทมั๊งถ้าผมจำไม่ผิด

แต่ไม่เติมทรายเฉยๆ เอาใส่กระสอบยักษ์ที่สมัยนั้นเราก็เพิ่งรู้จักว่ามันชื่อ บิ๊กแบ็ก (หลังน้ำท่วม 54) แล้วเอาทรายกลบทับหน้า

ผ่านไปทรายกลบก็หายไป เจ้าท่าก็เอามาเติมใหม่ครั้งสองครั้ง แล้วก็หายไปอีก
(เป็นธรรมดาของการเติมทรายที่ต้องเติมเรื่อยๆ)

แต่ที่ร้ายกว่านั่นคือ

กองบิ๊กแบ็กด้านเหนือสุดทำหน้าที่เหมือนกำแพงกันคลื่นจากหิน ทำให้กระแสน้ำเลี้ยวเบนเข้ากัดเซาะหาดด้านเหนือต่อไป...

ขณะที่ผ่านไปสี่ห้าปี กระสอบก็เริ่มขาด 

มีชาวบ้านบางส่วนเดินลงหาดไม่ได้ตะไคร่ลื่น ก็ต้องมาเจาะเพื่อให้ลงได้

นักท่องเที่ยวฝั่งลื่นล้มหัวแตก โรงแรมต้องเอาป้ายห้ามลงหาดมาวาง

นอกจากร้านปลาทูจะเทปูนเริ่มยึดหาดงอกแล้ว ท้องถิ่นยังทำถนนถมทับลงไปถึงเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งมีไฟฟ้าส่องทาง ว่ากันว่าอยากจะทำให้ครบทั้งสี่กองหิน ขวางทรายกะไม่ให้หลุดมาได้อีกสักเม็ดเดียว

น้ำเค็มจากเขื่อนกั้นปากร่องน้ำดึงน้ำเค็มมาปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่าชายเลนที่อุทยานสิ่งแวดล้คอมฯ แพร่ซึมไปในระบบน้ำใต้ดินในบริเวณนั้น จนบ่อน้ำตื้นน้ำจืดกลายเป็นน้ำเค็มไปหมด และอาจส่งผลเสียหายถึงไม้พระราชนิเวศน์

   ปัญหานี้จะแก้ไขอย่างไร ไม่มีใครรู้ครับ