‘บำรุงราษฎร์’เผยเทคนิค รักษาโรคใหลตายด้วยการจี้หัวใจ

14 มี.ค. 2559 | 06:13 น.
 

ย้อนกลับไปช่วงปี 2535-2538 มีโรคลึกลับที่สร้างความตื่นตระหนกแก่คนในยุคนั้นอย่างมาก เนื่องจากหลายคนอยู่ๆก็เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ นอนหลับแล้วเสียชีวิตไปเฉยๆ โดยไม่มีอาการบ่งชี้ล่วงหน้า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน รวมทั้งแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ก็เสียชีวิตในลักษณะนี้อีกหลายคนเช่นกัน ซึ่งการเสียชีวิตลักษณะนี้ รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “โรคใหลตาย”

 **รู้จักโรคใหลตาย

นพ. กุลวี เนตรมณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิก  ริม ในลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา และอายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เล่าว่า โรคใหลตายเป็นกลุ่มโรคเดียวกับ Brugada Syndrome และ Early Repolarization Syndrome ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ ทำให้หัวใจห้องล่างเต้นเร็วมากจนทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน ส่วนกลไกที่เป็นสาเหตุของ Brugada หรือ Early Repolarization เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ยังเป็นสิ่งที่ทางการแพทย์ต้องศึกษากันต่อไป

อาการของโรคนี้ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตฉับพลันในช่วงเวลากลางคืน ทั้งๆ ที่เป็นคนแข็งแรงและไม่เคยป่วยมาก่อน ในประเทศไทยมักพบบ่อยในภาคอีสานและบางส่วนของภาคกลาง ช่วงอายุผู้ป่วยจะอยู่ระหว่าง 30-50 ปี ที่สำคัญคือโรคนี้ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป และผู้ป่วยมักเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและสังคม ดังนั้น หากอยู่ๆ เสียชีวิตไป จะทำให้มีปัญหากับคนที่อยู่ข้างหลังได้

นพ. กุลวี ได้ทำการศึกษาบุกเบิกสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อค้นหาสาเหตุและแนวทางการรักษาโรคใหลตาย โดยในปี 2539 นพ. กุลวี และคณะวิจัยได้ค้นพบว่าอาการของโรคนี้มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกตินี้จะมีรูปแบบเฉพาะ ที่ภายหลังเรียกว่าเป็น Brugada Syndrome ล่าสุดเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา ก็มีการค้นพบใหม่อีกว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีพังผืดในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวา พยาธิสภาพของโรคนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าพันธุกรรมมีส่วนกระตุ้นให้เป็นโรคใหลตายอย่างไร?

“องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ทำให้ปัจจุบันเรามีความรู้มากขึ้น บอกได้ว่า โรคนี้สัมพันธ์กับพังผืดที่หัวใจข้างขวา  แต่พังผืดเกิดจากอะไรเรายังไม่รู้สาเหตุ รวมทั้งยังไม่รู้ว่าพันธุกรรมมีส่วนทำให้เกิดโรคอย่างไร ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนนี้ ที่เราไม่รู้อะไรเลย ทฤษฎีต่างๆ ในสมัยก่อนก็คนละเรื่องกับสมัยนี้ ตอนนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นว่าเป็นเพราะอะไร เกิดจากอะไร และเราก็ควรจะภูมิใจ เพราะองค์ความรู้เหล่านี้ที่มี ทั่วโลก เกิดจากการศึกษาวิจัยในเมืองไทย”

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการ Brugada Syndrome และ Early Repolarization Syndrome คือคนที่เคยมีอาการ Cardiac Arrest หรือ ภาวะหัวใจเต้นระริกไม่มีการบีบตัว ทำให้ไม่มีการไหลเวียนเลือด ไม่มีการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งอาการนี้ หากไม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจชนิดอื่นมาก่อน ก็ พบว่าเกิดจากกระแสไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ รวมทั้งอาการ Agonal respiration หรือการหายใจเป็นเฮือกๆ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้นหลังหัวใจหยุดเต้น คนกลุ่มนี้แม้มีชีวิตรอดจากการช่วยปั๊มหัวใจมาได้ครั้งหนึ่ง ก็ยังมีความเสี่ยงจะเกิดซ้ำอีก BA5A8929

 **พัฒนาเทคนิคการรักษาด้วยการจี้หัวใจ

สำหรับแนวทางการรักษาผู้มีอาการ Brugada Syndrome และ Early Repolarization Syndrome ในขณะนี้ แนวทางแรกคือการใส่เครื่องกระตุกหัวใจ (Implantable Defibrillator) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าป้องกันการเสียชีวิตได้ โดยเมื่อเกิดอาการภาวะหัวใจห้องล่างเต้นระริกโดยไม่มีการหดตัว (Ventricular Fibrillation) เครื่องกระตุกหัวใจก็จะช็อกหัวใจให้กลับมาทำงานอีกครั้ง

นอกจากนี้แล้ว นพ. กุลวี ยังได้บุกเบิกวิธีการใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency ablation) ผ่านสายจี้  บริเวณจุดที่มีปัญหา  ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยี 3-Dimention electroanatomical mapping มาจำลองภาพ 3 มิติของหัวใจ เพื่อให้แพทย์มองเห็นการทำงานของกระแสไฟฟ้าหัวใจได้ชัดเจน และค้นหา ตำแหน่งที่มีความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ โดยวัตถุประสงค์การรักษาแนวทางนี้คือมุ่งรักษาโรคให้หายขาด ต่างจากการใส่เครื่องกระตุกหัวใจที่ไม่ใช่ทางแก้แต่เป็นการป้องกันการเสียชีวิตเท่านั้น

อย่างไรก็ดี วิธีการรักษาด้วยวิธีจี้หัวใจ  นอกจากต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อให้ค้นหาตำแหน่งผิดปกติได้อย่างแม่นยำแล้ว ปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ทักษะและความชำนาญของแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งในเมืองไทยยังมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จำนวนไม่มาก ด้วยเหตุนี้ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้วยเทคนิค RF ablation อย่างต่อเนื่องเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ไปในวงกว้างมากขึ้น

ล่าสุด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้จัดประชุมเชิงปฎิบัติการในหัวข้อ “Genetics, Diagnosis and Treatment of Brugada & Early Repolarization Syndromes” หรือ “พันธุศาสตร์ การวินิจฉัยและการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในโรคใหลตาย (Brugada Syndrome) และภาวะ Early Repolarization” ไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านหัวใจหลายคนมาร่วมงาน อาทิ ด็อกเตอร์ Mélèze Hocini จาก Hôpital Cardiologique du Haut-Lévèque ในเมือง Bordeaux ด็อกเตอร์ Michel Haïssaguerre จาก Central Hospital University of Bordeaux ด็อกเตอร์ Arthur Wilde จากDepartment of Cardiology, Academic Medical Center, University of Amsterdam และด็อกเตอร์ Elijah Behr จาก St George's, University of London ตลอดจน ศ.นพ. มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์  อายุรแพทย์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจอนห์น ฮอปกินส์ เมืองบัลติมอร์รัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกาและศาสตราจารย์สรีรวิทยาและชีวฟิสิกส์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเวอร์ดกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ผู้ร่วมคิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังร่างกาย และได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 มาร่วมบรรยายด้วย ถือเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ของแพทย์ทั้งในไทยและต่างประเทศ

การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว  เน้นที่การอบรมการจี้หัวใจสำหรับโรคใหลตาย โดยนำผู้ป่วยที่มีอาการของโรคมาสาธิตการรักษา ซึ่งจะมีทั้งแบบที่มีอาการของ Brugada Syndrome, Early Repolarization ผู้ป่วยที่มีทั้ง 2 อาการผสมผสานกัน รวมทั้งผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุกหัวใจ ผู้เข้าประชุมจะได้เห็นการสาธิตว่าจะหาจุดที่มีความผิดปกติตรงไหน หาเจอแล้วจะใช้เครื่องมือจี้อย่างไร

“วัตถุประสงค์ที่เราจัดงานนี้ขึ้นเพราะผมศึกษาโรคนี้มานาน เรามีการค้นพบใหม่ๆว่าโรคพวกนี้เกิดจากอะไร แล้วก็คิดค้นวิธีการจี้หัวใจเพื่อทำให้โรคนี้หายขาดได้ ขณะที่ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ก็มีห้อง ปฏิบัติการที่ทันสมัยระดับนานาชาติ เพราะถอดแบบมาจากห้องปฏิบัติการของผมในลอสแองเจลิส นี่เป็นโอกาสที่ดีในการเข้าใจการเสียชีวิตเฉียบพลันของคนปกติที่ไม่เป็นโรคหัวใจ ไม่ได้หวังผลทางธุรกิจ แต่อยากสร้างเรื่ององค์ความรู้ของวงการแพทย์เป็นหลัก” นพ. กุลวี กล่าว

**หวังเทคนิคใหม่ทดแทนเครื่องกระตุกหัวใจ

นพ. กุลวี กล่าวอีกว่า แนวคิดในการพัฒนาเทคนิคการรักษานี้ คือหวังว่าจะสามารถเข้ามาทดแทนการใส่เครื่องกระตุกหัวใจได้ เพราะการใส่เครื่องกระตุกหัวใจจะต้องใส่เครื่องมือนี้ไปตลอดชีวิต และระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้อาจเสี่ยงมีปัจจัยแทรกซ้อนได้ เช่น ฉนวนของสายไฟรั่วและทำให้เครื่องไม่ทำงาน หรือเกิดการติดเชื้อได้หากเปลี่ยนเครื่องบ่อยๆ

นอกจากนี้ เทคนิคดังกล่าวยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย เนื่องจากการใส่เครื่องมือแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง และต้องใส่เครื่องมืออีกหลายครั้ง ตลอดชีวิต ดังนั้น หากสามารถตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการ และทำการรักษาด้วยการจี้หัวใจตั้งแต่แรกย่อมทำให้เกิดการรักษาที่ให้ผลลัพธ์ในเชิงบวกแก่ผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม กว่าจะเดินหน้าไปถึงจุดนั้นได้ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี โดยขั้นตอนขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการวิจัย  เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเทคนิคนี้เป็นการเพิ่มศักยภาพในการป้องกันการเกิดอาการของโรค  เป็นที่ยอมรับจากวงการแพทย์อย่างกว้างขวาง และคาดว่าจะทำการวิจัยเสร็จภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

หลังจากนั้น หากผลการวิจัยได้คำตอบที่ดี ก็ต้องทำ Clinical Trial เพื่อดูว่าระหว่างการใส่และไม่ใส่เครื่องกระตุกหัวใจแล้วได้ผลลัพธ์เท่ากันหรือไม่ ขั้นตอนนี้เร็วที่สุดก็ใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี แต่หากทำสำเร็จก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งในวงการแพทย์