‘นกแอร์’ป่วน กรณีศึกษาแอร์ไลน์จัดหลังบ้านดิ้นหาทางออกธงแดง ICAO

18 ก.พ. 2559 | 01:00 น.
ความปั่นป่วนในการสไตร์ของนักบิน บางส่วนกว่า 10 คนของสายการบินนกแอร์ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ส่งผลต่อการยกเลิกเที่ยวบินไปร่วม 9 เที่ยวบิน กระทบผู้โดยสารร่วม 1.5 พันคนต้องถูกลอยแพ และสายการบิน อยู่ระหว่างการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆของผู้โดยสารที่เกิดขึ้น รวมถึงการจัดระเบียบการปฏิบัติการของสายการบินใหม่เพื่อให้ทำการบินได้ตามปกติ

 ผลพวงติดธงแดงICAO

ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นอีกหนึ่งเคส ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากผลกระทบกรณีที่กรมการบินพลเรือนหรือบพ.เดิม ถูกปักธงแดงด้านมาตรฐานการกำกับดูแลของการบินไทยที่ไม่ได้มาตรฐานตามองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO และในขณะนี้ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหรือ กพท.ต้องแก้ไขใน 2 เรื่องเพื่อนำไปสู่การปลดธงแดง คือ 1.ต้องทยอยทบทวนการออกใบรับรองหรือใบอนุญาตใน 2 ส่วน คือ ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก (Airline Transport Pilot License หรือ ATPL ที่จะมีนักบิน 2,100 คนเข้าข่ายต้องมีการตรวจสอบใหม่ และการทบทวนการออกใบรับรองการเดินอากาศ(Air Operator Certificate Re-Certification) หรือAOC ใหม่ ให้กับสายการบินต่างๆของไทย เพราะไลเซ้นต์เดิมต่างๆเหล่านี้ออกโดยบพ.เดิม ที่ติดชนัก ที่ICAO ประเมินว่าบุคลากรในการตรวจสอบไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ

จากการแก้ไขปัญหาที่ต้องใช้เวลาพอสมควร และยาวนานมาข้ามปีเช่นนี้ ทำให้สายการบินต่างๆหมดโอกาสในการขยายเครือข่ายใหม่ๆโดยเฉพาะเส้นทางสู่ญี่ปุ่น ที่ถือเป็นเดสติเนชั่นที่ได้รับความนิยมสูง ขณะเดียวกันสายการบินต่างๆก็ต้องปรับระบบหลังบ้านใหม่ เพื่อรองรับการตรวจสอบ AOC ใหม่ ควบคู่กับการหาทางออกเพื่อการรันตรีมาตรฐานการให้บริการในระดับสากล และสามารถทำการบินรหัสร่วมหรือโค้ดแชร์กับสายการบินของต่างประเทศได้เต็มที่ ดังนั้นในระหว่างที่กพท.ยังไม่สามารถถอดธงแดงประเทศไทยได้

ทำให้ในขณะนี้สายการบินต่างๆ (ยกเว้นการบินไทย ที่มีมาตรฐานระดับสากลอยู่แล้ว) ต่างต้องหันมาพึงการเข้าร่วมโครงการตรวจสอบของกลุ่มสายการบิน อย่าง "โครงการ IOSA-IATA Operational Safety Audit" ของ "สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(IATA)" ที่ในอดีตอาจจะตรวจสอบทางด้านการจัดการปฏิบัติการบินของสายการบินสมาชิก เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศของสายการบินสมาชิก แต่ปัจจุบันโครงการนี้มีบริการรับตรวจสอบให้แก่สายการบินที่ไม่ได้เป็นสมาชิก

นี่เองทำให้สายการบินต้นทุนต่ำเองของไทยเกือบจะทุกสาย รวมถึงนกแอร์ ต่างเข้าโปรแกรมในโครงการนี้ เพื่อการันตรีความปลอดภัยในการบิน และใช้อ้างอิงในการทำการบินเข้าประเทศต่างๆ โดยเฉพาะหลังจากไทยสอบตกจาก ICAO ซึ่งการตรวจสอบในโครงการนี้ จะยึดการตรวจสอบสายการบิน ในภาคผนวกของICAO คือ ภาคผนวกที่ 1 Personnel Licensing (ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่) ภาคผนวก6 Operation of aircraft (การปฏิบัติการบินของอากาศยาน)

 จัดหลังบ้านอิงมาตรฐานIOSA

จากจุดนี้ทำให้เมื่อนกแอร์ จะเข้าการตรวจสอบในโครงการนี้ จึงต้องเคลียร์หลังบ้าน และจัดระเบียบใหม่ ทำให้ตัวนักบินเอง หรือผู้เกี่ยวข้องต้องได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการต้องถูกปรับเปลี่ยนเนื้องานหรือถูกลดสถานภาพ อันส่งผลให้การทำงานไม่เหมือนเดิม

นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุจากความไม่พอใจของนักบินบางส่วน ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์การตรวจสอบของสายการบิน เนื่องมาจากสายการบินอยู่ในระหว่างดำเนินการยกระดับมาตรฐานในระบบปฏิบัติการ เพื่อยกระดับการจัดการมาตรฐานความปลอดภัยของสายการบินให้ตอบสนองกับ IOSA (IATA Operation Safety Audit) ซึ่งเป็นระบบตรวจรับรองคุณภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และในขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาภายในองค์กร ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นเรื่องสำคัญก่อนในขณะนี้

  สั่งสายการบินทำแผนฉุกเฉิน

แม้ปัญหานี้จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในนกแอร์ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อผู้โดยสาร ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องเรียก 14 สายการบินหารือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีนกแอร์

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้เรียกสายการบินทั้งในและต่างประเทศประชุม มีสายการบินเข้าร่วม 13 สายการบิน แต่ไม่มีตัวแทนสายการบินนกแอร์ โดยแจ้งมาว่ามีการประชุมภายในของบริษัทซึ่งที่ประชุมได้ขอให้สายการบิน จัดทำแผนฉุกเฉินรวมทั้งแผนบริหารความเสี่ยงของแต่ละสายการบิน และส่งมาให้กระทรวงคมนาคมภายใน 1เดือน โดยย้ำว่า ทุกกรณีที่เกิดขึ้นสายการบินจะต้องมีผู้ที่สามารถตัดสินใจบริหารจัดการแก้ไขปัญหาได้ทั้งต้นทางและปลายทาง

ทั้งในอนาคต กพท. จะลิงค์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของทุกสายการบินเพื่อทำการตรวจสอบเหตุผิดปกติล่วงหน้า พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้แจ้งให้สายการบินทั้งหมดทราบถึงประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ.2553 และให้นกแอร์ส่งคำชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาภายใน 3วัน(เวลาราชการ)

งานนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่อีกหลายสายการบินต่างๆต้องกุมขมับ จากปัญหาทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน ที่ต้องมีการยกเครื่องใหม่เพื่อให้พ้นจากหางเลขของปัญหาที่เกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559