ส่องประชารัฐท่องเที่ยว ผ่านมุมมอง ‘ชนินทธ์ โทณวณิก’

08 ก.พ. 2559 | 06:00 น.
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลที่กำลังเร่งผลักดันโดยอาศัยความร่วมมือของคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน (ประชารัฐ) เป็นแนวร่วมสำคัญ ซึ่งมีคณะกรรมการทั้งหมด 12 คณะในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ในส่วนของการส่งเสริมการท่องเที่ยว & ตลาดไมซ์ นอกจากมี กลินท์ สารสิน ประธานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นหัวหน้าทีมแล้วยังมี ชนินทธ์ โทณวณิก กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด เป็นหัวหน้าคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว&ไมซ์อีกด้วย

[caption id="attachment_30155" align="aligncenter" width="500"] Quick Win ด้านการท่องเที่ยว Quick Win ด้านการท่องเที่ยว[/caption]

คณะกรรมการชุดนี้ได้คิกออฟลงนาม "เอ็มโอยู" ความร่วมมือกับ 21 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 พร้อมกับประกาศแผนความร่วมมือระยะสั้น (ควิก วิน) ด้านการท่องเที่ยว 10 ประการเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน ภายใต้เป้าหมายหลัก 3 ประการคือ เพิ่มการกระจายรายได้ ยกระดับรายได้จากการท่องเที่ยวและสร้างความยั่งยืนของการท่องเที่ยว

 ทุกบริษัทต้องช่วยกัน

"ชนินทธ์" ยอมรับว่าจากปัญหาเศรษฐกิจไทยมีปัญหาจากตัวเลขการส่งออกที่ติดลบ 5% แล้วยังเจอปัญหาเศรษฐกิจโลก ภัยแล้งทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐจึงมีแนวคิดให้เอกชนออกมาขับเคลื่อน เพราะเห็นว่าทำได้เร็วกว่ารัฐ ดังนั้นบางอย่างที่ทำได้ก็ทำไปก่อน ลุยไปก่อนโดยพยายามบอกทุกบริษัทที่อยู่ในประเทศให้มาช่วยกันหน่อย ในการเดินทางท่องเที่ยวอินเซนทีฟ ประชุม สัมมนาในประเทศ

"เราเชิญชวนกว่า 7 หมื่นบริษัท ที่เป็นสมาชิกสภาหอการค้าฯ เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ให้หันมาจัดประชุมสัมมนา จัดอินเซนทีฟในประเทศ รวมถึงสมาคมอื่นๆ อาทิ สมาคมธนาคารฯที่แม้สมาชิกไม่มากแต่อิมแพ็กต์แรง สมาคมประกันภัย เป็นต้น เพื่อผลักดันให้ทุกบริษัทไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ให้มีการเดินทาง และยังได้หารือกับบริษัทคอนซูเมอร์รายใหญ่ ซึ่งเขาได้ประกาศนโยบายสนับสนุนการเดินทางในประเทศไม่ไปต่างประเทศแล้ว"

เจ้าสัวดุสิตธานี กล่าวอีกว่า ตลาดการท่องเที่ยวของไทยจะพบว่า ส่วนแรก เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนมากจะเดินทางท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ ส่วนที่ 2 เป็นคนไทยที่เที่ยวในเมืองใหญ่และเมืองรองบ้าง แต่จะทำอย่างไรให้เมืองรองและเมืองรองของเมืองรองลงไปให้มีคนไปท่องเที่ยว ไปจัดสัมมนา ถ้าขอร้องให้ 1 บริษัทเดินทางไปท่องเที่ยว 1 ทริป หรือ 1 ประชุมได้อย่างน้อยเศรษฐกิจในจังหวัดนั้น ๆ ก็ย่อมดีขึ้น เพราะจะเกิดการหมุนเวียนอย่างค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว 100 บาท 25% เป็นค่าที่พัก ที่เหลือกว่า 70% เป็นรายได้ที่ใช้จ่ายตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ สร้างรายได้โดยตรงให้กับธุรกิจท่องเที่ยว 300-400 บาท ที่จะเกิดขึ้นในแหล่งชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การเดินทาง ร้านอาหารต้องซื้อผัก ผลไม้ หมุนเวียนอีก 4-5 เท่ากลายเป็น 2 พันบาท เป็น Multiplier Effect

 ดันสินค้าไทยขายที่สนามบิน

ทั้งยังระบุอีกว่า ปัญหาตอนนี้คือ คนลดค่าใช้จ่าย บางคนไม่มีเงินจะใช้จ่ายจริง แต่บางคนมีเงินแต่ไม่ใช้หรือใช้เพื่อการเดินทางไปต่างประเทศ แต่เราต้องการให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพื่อช่วยท้องถิ่น เพราะถ้าคนในต่างจังหวัดมีรายได้มากขึ้นเขาก็ใช้จ่ายมากขึ้น ใช้จ่ายในท้องถิ่นและซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการ ก็จะย้อนกลับมาที่ผู้ผลิตอยู่ดี ผมอยากผลักดัน ผลไม้ไทย อาหารไทย ดอกไม้ไทย ให้ขายได้ซึ่งอันนี้ก็เป็น 1 ใน 10 อยู่ในควิก วิน ด้วย

ในมุมมองทางการท่องเที่ยว จากข้อมูลขณะนี้พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 30 ล้านคน หรือมีจำนวน 270 ล้านรูมไนต์ต่อปี และยังมีผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบินหลักอีก 100 ล้านคนต่อปี ไอเดียคือทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ซื้อสินค้าของไทยคนละถุง และแฮปปี้ กับการซื้อสินค้าไทยโดยเราไม่ลดราคา และจะผลักดันให้คนเหล่านี้ซื้อสินค้าไทยที่สนามบินซึ่งเป็นประตูผ่านของนักท่องเที่ยว เหมือนคนไทยไปญี่ปุ่น จะซื้อ ขนม ของฝาก กลับเมืองไทย เป็นจำนวนมาก

"แต่สนามบินของไทยกลับไม่มีสินค้าไทยวางขาย เราต้องการผลักดันให้ ผลไม้ ดอกไม้ สินค้าไทย มีวางขายที่สนามบิน ซื้อกันคนละกิโล ก็ได้รายได้มหาศาลแล้ว ทำให้ชาวไร่ ชาวนาได้ขายของได้ ทั้งที่เรามีสินค้าที่ดี แต่บางคนไม่ดูแลเรื่องคุณภาพ และมีปัญหาเรื่องแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งขณะนี้ได้คุยกับ เอสซีจีให้เขาช่วยออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ให้มีหลายระดับ หลายระดับ ใส่ผัก ผลไม้ ดอกไม้ให้คนซื้อที่สนามบิน นักท่องเที่ยวได้สินค้ามีคุณภาพ ซื้อแล้วแฮปปี้คราวหน้าก็กลับมาซื้อใหม่"

เขายังให้ความเห็นอีกว่าสนามบินไม่ใช่มีแต่สินค้า แบรนด์เนมอย่าง หลุยส์วิตตอง ขาย ของพวกนี้ต้องมีแต่ก็ควรมีของไทยขายด้วย และต้องเพิ่มแวลูให้คนมาอยู่แล้วซื้อสินค้าไทย เช่นอาจจะทำ "แบงกอก แบนนานา" ก็ได้ อย่างน้อยก็ช่วยเกษตรบ้านเราได้ หรือสมมติจะโปรโมตเป็นเดือน ๆ เช่นเดือนกุมภาพันธ์ จะโปรโมตผลไม้อะไร การบินไทยต้องร่วม สมาคมรีเทล เซ็นทรัล บิ๊กซี ช่วยโปรโมต แอตต้าพาไปเที่ยวสวนที่ไหน มีการจัดประกวด ฯลฯ ต้องทำให้ครบ ต้องช่วยกัน

 ขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำซ่อมรร.

อีกเรื่องที่ต้องทำคือการจัดกิจกรรมยามค่ำคืนในแหล่งท่องเที่ยว ที่มีการเสนอให้ติดไฟส่องสว่างตามแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งในกทม.ดูอยู่ 2-3 แห่ง อาจจะเป็นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลำคลอง หรือเมืองเก่าอย่าง พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย พิษณุโลก เชียงใหม่ จะทำเป็นตุ๊กตาก่อนถ้าเวิร์กก็จะทำต่อ เพื่อให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวในเวลากลางคืน ส่วนกลางเข้าไปดำเนินการและจัดงบประมาณไปให้ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างธุรกิจขนาดเล็ก ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายโรตี ซึ่งต้องดึงคนให้มีอะไรทำตอนกลางคืน เพื่อเมืองจะได้โต

ส่วนโจทย์ใหญ่อีกเรื่องที่กำลังเร่งผลักดันคือ การขอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ให้การสนับสนุนแก่โรงแรมที่ซ่อมแซมหรือปรับปรุง ให้ได้สิทธิประโยชน์พิเศษ เพราะกว่า 10% ของโรงแรมทั่วประเทศต้องปรับปรุง โดยเน้นใช้วัสดุในประเทศ ซึ่งจะเห็นผลดีเร็วกว่าการส่งเสริมโรงแรมสร้างใหม่ ทั้งยังเป็นการปรับปรุงคุณภาพการบริการและสามารถคิดราคาขายที่แพงขึ้นได้ และถ้าเป็นไปได้จะหารือกับสมาคมธนาคารไทยเพื่อเสนอให้จัดเป็นเงินกองทุนในการกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ที่ต้องการปรับปรุงโรงแรมด้วย เจ้าสัวดุสิตธานีกล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559