แนะ7เทคนิคง่ายๆสอนลูกรักให้จิตใจดีใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

16 ก.ค. 2560 | 03:07 น.
การสร้างสังคมที่ดีสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเราและต้องช่วยกันปลูกฝังความดีสู่หัวใจลูกตั้งแต่ยังเล็ก

พญ. ถิรพร ตั้งจิตพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีเทคนิคการเลี้ยงลูกให้จิตใจดีมาแนะนำและใช้ได้จริง โดยเริ่มต้นจาก

tiraporn

1. ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตนเอง เพื่อเป็นพื้นฐานทักษะอื่นต่อไป เพราะการที่เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และลดการพึ่งพาคนอื่นจะทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในตัวเอง ลดความกังวล และพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน

2. ฝึกลูกช่วยงานบ้าน เริ่มได้ตั้งแต่เล็กโดยส่วนใหญ่ เด็กวัย 2 ขวบ เริ่มฟังและเข้าใจคำสั่งง่ายๆ ดังนั้นเราควรฝึกลูกให้ช่วยงานบ้านขั้นพื้นฐาน เช่น เก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จแล้ว นำเสื้อผ้าที่สวมแล้วไปใส่ตะกร้า เป็นต้น การให้ลูกช่วยงานบ้าน โดยเริ่มจากสิ่งที่เขาควรต้องรับผิดชอบเอง ทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องหน้าที่ของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการใช้ชีวิตในสังคม เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นค่อยเพิ่มหน้าที่ภายในบ้านให้เหมาะสมกับวัย ลูกก็จะเรียนรู้ว่าสิ่งต่างๆ ที่ตนทำ มีผลกระทบต่อคนรอบข้างอย่างไร นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเอาใจเขาใส่ใจเรา

3. ฝึกระเบียบวินัย เพื่อเป็นทักษะการควบคุมตนเองและยับยั้งชั่งใจให้แก่ลูก นับเป็นพื้นฐานต่อการทนต่อสิ่งยั่วยุต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่เล็กๆ อาทิ การตื่นนอนและเข้านอนให้เป็นเวลา รับประทานอาหารเป็นเวลา การเก็บของเล่นให้เป็นที่เป็นทางหลังเล่นเสร็จแล้ว ไม่รับประทานขนมหรืออาหารในห้องนอน เป็นต้น

ch2

4. การพาลูกพบคนหลากหลาย นับเป็นการฝึกให้ลูกมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและเข้าใจสังคมมากขึ้น คือ ทำให้เขาเห็นว่าในโลกนี้มีคนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งสีผิว เชื้อชาติ ภาษา และความคิด ซึ่งสิ่งที่แตกต่างเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าผิดเสมอไป การพาลูกออกเดินทางท่องเที่ยวได้เห็นวิถีชีวิตผู้คนที่แตกต่าง พร้อมกับคำชี้แนะที่เหมาะสมจะทำให้ลูกเข้าใจความเป็นไปของโลกใบนี้ได้ดีขึ้น

5. สอนเรื่องอารมณ์ต่างๆ พ่อแม่มักให้ความสำคัญกับการสอนลูกให้เป็นเลิศในด้านวิชาการ สอนเรื่องมารยาท กฎระเบียบ แต่กลับลืมเรื่องการรับมือกับอารมณ์ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ดังนั้น พ่อแม่ควรเริ่มต้นสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ต่างๆ ของตน ด้วยการเอ่ยชื่ออารมณ์นั้นๆ เมื่อลูกแสดงออกมา อาทิ เมื่อลูกร้องไห้ที่ไม่ได้ของเล่น อาจบอกลูกว่า แม่รู้ว่าลูกกำลังเสียใจที่ไม่ได้ของเล่น หรือเมื่อลูกโกรธที่ถูกแย่งขนม ต้องบอกว่าลูกกำลังโกรธใช่ไหม แต่แม่อยากให้ลูกหายใจลึกๆ ใจเย็นๆ การสอนเช่นนี้จะช่วยทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ของตนเมื่อโตขึ้น และไม่นำอารมณ์ของตนเองมาเป็นข้ออ้างในการทำร้ายคนอื่น

ch1

6. สร้างแรงบันดาลใจด้วยเรื่องเล่า สำหรับเด็กเล็กโลกของเขายังไม่กว้างใหญ่มากนัก การเล่าเรื่องราวต่างๆ จากนิทาน หรือเกร็ดประวัติศาสตร์อย่างง่ายๆ เกี่ยวกับบุคคลที่ทำเพื่อผู้อื่น จะช่วยทำให้ลูกเข้าใจเรื่องการช่วยเหลือกันในสังคมได้ดีขึ้น คนเป็นพ่อแม่อาจถามลูกว่าหากเกิดเหตุการณ์อย่างในนิทานขึ้นกับลูก ลูกจะทำอย่างไร ลองฟังคำตอบของลูก แล้วชื่นชมหรือตั้งคำถามเพื่อชี้แนะแนวทางที่ถูก หลีกเลี่ยงที่จะวิจารณ์และตัดสินว่าคำตอบของลูกถูกหรือผิด เพื่อให้ลูกได้ฝึกคิดด้วยตนเองโดยมีพ่อแม่เป็นผู้ชี้นำแนวทางที่เหมาะสม

7. สอนลูกให้รู้จักแก้ปัญหา บ่อยครั้งที่ลูกทำผิดพลาด พ่อแม่หลายคนจะใช้วิธีตำหนิหรือดุลูก เพื่อไม่ให้ลูกทำผิดอีก ซึ่งจะทำให้เด็กคิดว่าการทำผิดเป็นเรื่องใหญ่ และกลัวที่จะทำผิด หรือจะปกปิดความคิดของตนเองโดยการโกหก ดังนั้น พ่อแม่ควรเริ่มต้นในการให้อภัยลูก แล้วชวนลูกแก้ไข้ปัญหาหลังจากที่เกิดข้อผิดพลาด อาทิ เด็กวิ่งแล้วทำน้ำหก พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ คือ เช็ดน้ำและเก็บแก้วให้เป็นที่ หลังจากนั้นชวนให้ลูกคิดว่าครั้งหน้าสามารถระวังอย่างไรให้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

มีคำกล่าวที่ว่า “Action speak lounger than words” พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก เพราะการเห็นแบบอย่างที่ดีจะทำให้เด็กสามารถจดจำการทำดีได้มากกว่าการใช้เพียงคำพูด พญ.ถิรพร ตั้งจิตติพร กล่าวทิ้งท้าย