Hoi -An Calling มนต์เสน่ห์ริมฝั่งน้ำ ความสง่างามของวัฒนธรรม

09 ก.ค. 2560 | 00:05 น.
หากคุณเป็นหนึ่งในนักเดินทาง การได้ไปในสถานที่ซึ่งปักหมุดไว้คือหนึ่งในความสุขสูงสุดของการใช้นาทีแห่งการดำรงชีวิตอย่างคุ้มค่า ณ ดินแดนตอนกลางของประเทศที่วางตัวแนวขนานชิดขอบคาบสมุทรอินโดจีน พื้นที่วางตัวแนวยาวคล้ายรูปตัว S ที่เรียกว่า “ประเทศเวียดนาม” คือหนึ่งในอัญมณีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปรากฎความหลากหลายทั้งสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงรสชาติของอาหาร ดุจการเจียระไนจากธรรมชาติส่องประกายงดงามหลากมุมมองเรียกความสนใจจากสายตาอันซุกซนของเหล่านักท่องเที่ยวและนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกให้เดินทางมาเยือนที่นี่อย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งปี และวันนี้ความฝันของการเดินทางตรงสู่ใจกลางประเทศเวียดนามเป็นจริงแล้ว กับการเปิดเส้นทางบินตรงล่าสุดของสายการบินไทยแอร์เอเชีย กรุงเทพฯ – ดานัง เมืองท่าที่กำลังพัฒนาถึงขีดสุด เชื่อมต่อเมืองมรดกโลกทีเรียกได้ว่าเป็นจุดที่สีเหลืองมัสตาร์ดงดงามที่สุดของโลกใบนี้ “ฮอยอัน”

MP32-3277-11 พระอาทิตย์โพล่พ้นขอบฟ้าตั้งแต่เข็มชั่วโมงบนนาฬิกาข้อมือเรือนเล็กยังชี้ไม่ถึงเลข 6 เสียงกระดิ่งจักรยานของชาวบ้านซึ่งสัญจรจนเป็นกิจวัตรผ่านหน้าโรงแรมเรียกให้เราลุกขึ้นมาเปิดม่านผืนโปร่งเผยให้เห็นความงามของอาคารสีเหลืองมัสตาร์ดที่เรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทีโบน แม่น้ำสายสำคัญเชื่อมการค้าของคนบนคาบสมุทรแห่งนี้มานานหลายร้อยปี ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะหยิบรองเท้ากีฬาคู่เก่ง ออกไปวิ่งสูดอากาศยามเช้าในเมืองมรดกโลกที่เย้ายวนเราด้วยสีสันอันสดใส และเสียงพูดคุยกันแม้จะด้วยภาษาที่ไม่คุ้นเลยแต่สื่อได้ด้วยรอยยิ้มและสายตาที่นุ่มนวลเชื้อเชิญให้เรารู้จักเมืองเล็กๆ แห่งนี้มากขึ้น

MP32-3277-5 “ฮอยอัน” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2542 มนต์เสน่ห์ของอาคารสไตล์โคโลเนียล สะท้อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของการเป็นศูนย์กลางทางการค้าทั้งชาวเอเชียและชาวยุโรปตั้งแต่ราวศตวรษที่ 16 พื้นที่เมืองซึ่งคั่นกลางด้วยคลองเล็กๆ แบ่งพื้นที่การพักอาศัยตามการรวมกลุ่มของการทำธุรกิจและความสนิทสนมกลมกลืนทางชนชาติออกเป็นสองส่วนคือ ฝั่งหนึ่งเป็นเขตชุมชนของชาวญี่ปุ่นที่มักก่อสร้างอาคารบ้านเรือนด้วยไม้และอิฐ และอีกฝั่งหนึ่งคือเขตชุมชนของชาวจีนซึ่งก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูน ปรากฎตัวอักษรจีนบริเวณหน้าอาคารบ้านเรือน และการสัญจรไปมาระหว่างสองฝั่งคลองก็ถูกเชื่อมด้วยการร่วมมือร่วมใจจากน้ำพักน้ำแรงของชาวญี่ปุ่นที่ตั้งใจสร้างสะพานขึ้น สถาปัตยกรรมที่ปรากฎในปัจจุบันคือการเป็นสะพานอิฐโค้งมุงด้วยหลังคาไม้ สะพานแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “สะพานญี่ปุ่น” หรือ “สะพานวัดญี่ปุ่น” ก็เพราะว่าตรงกลางสะพานมีวัดเล็กๆ ซึ่งประดิษฐาน “เทพปราบฝน” องค์เทพที่ชาวจีนและชาวญี่ปุ่นซึ่งอาศัยอยู่ในแถบนี้ร่วมกันอัญเชิญมาจากตอนเหนือของประเทศเวียดนาม เนื่องจากเมืองฮอยอันตั้งอยู่ในพื้นที่ปะทะฝนมีแม่น้ำล้อมรอบทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยร้ายแรงหลายครั้ง หลังจากสะพานและวัดสร้างแล้วเสร็จอุทกภัยร้ายแรงก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลย

MP32-3277-8 นอกจากสะพานญี่ปุ่นที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญแล้ว ฮอยอันยังเต็มไปด้วยบ้านโบราณที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของการใช้ชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาค้าขายของคนในยุคร้อยปีก่อนได้อย่างดีเยี่ยม อาคารบ้านเรือนที่ตั้งเพื่อให้ด้านหน้าติดกับถนน ด้านหลังติดกับท่าน้ำเพื่อการขนส่งสินค้า การแบ่งพื้นที่ใช้งานในบ้านออกเป็นส่วนการค้าขาย ส่วนพักอาศัย และส่วนเปิดโล่งเพื่อให้แสงธรรมชาติส่งสว่างเข้ามาถึงภายในฉายภาพการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดผ่านงานสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัยอย่างดีเยี่ยม

เสียงจอแจจากมุมโค้งสุดถนนพาเราไปถึงตลาดสดที่เต็มไปด้วยของกินของฝากแบบพื้นบ้านในราคาน่ารักไม่ต่างกับการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดไกลๆ ในเมืองไทย การตั้งราคาที่สมเหตุสมผลไม่เผื่อต่อรองยิ่งทำให้เราตกหลุมเสน่ห์เพลิดเพลินกับการจับจ่ายซื้อของจนตะวันขึ้นไปเกือบกลางศีรษะแบบไม่รู้ตัว

MP32-3277-10 ไม้ขนาดกว้างประมาณ 1 ฟุต และยาวเกือบสองเมตร ที่ถูกวางเป็นที่นั่งบ้าง โต๊ะบ้าง เมื่อยามกลางวันค่อยๆ ถูกวางซ้อนกันตามแนวกว้างทีละแผ่น เมื่อพระอาทิตย์เลื่อนคล้อยต่ำ บ้านที่ยังไม่ได้ดัดแปลงเป็นร้านค้าค่อยๆ ปิดบ้านด้วยวิธีการแบบเดิมไม่ได้ใช้ประตูอย่างที่เราคุ้นชินสะกิดให้เรารับรู้ถึงอีกหนึ่งช่วงเวลาที่รอคอย หากความงามของฮอยอันยามกลางวันคือสีสันในชีวิตที่เราตามหา ฮอยอันยามค่ำคืนที่ประดับประดาสว่างไสวไปด้วยโคมไฟประดิษฐ์น้อยใหญ่เรียงรายไปตามทาง ตามบ้านแทบทุกหลังคาเรือนก็เป็นดั่งความใฝ่ฝันที่เราหยิบมาเก็บไว้ในห้วงลมหายใจ

สายลมเย็นพัดเอื่อยนำพากระทงกระดาษหลากสีสันลอยล่องไปในผืนน้ำส่องประกายระยิบระยับไม่ต่างจากดวงดาวบนผืนฟ้างาม นี่แหล่ะมนต์เสน่ห์ของเมืองมรดกโลกที่มีชีวิตนี้ “ฮอยอัน” ฉันยังคงรักเธอ

MP32-3277-AB จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560