120 ปี โรเบิร์ต เลนซ์ และห้องภาพในสยาม 19th Century Photographs of Siam by Robert Lenz.

08 ก.ค. 2560 | 23:57 น.
MP30-3277-5 เพียงก้าวผ่านประตูห้องจัดแสดงเราก็เหมือนหลุดไปอยู่ในอีกภพที่มีเวลาห่างกันถึง 120 ปี กับภาพถึง 20 ภาพจาก มร.โรเบิร์ต เลนซ์ (Mr. Robert Lenz) ช่างถ่ายภาพชาวเยอรมัน ผู้มีโอกาสได้ถวายงานฉายพระรูปให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ไทยหลายพระองค์ และที่สำคัญที่สุดคือการฉายพระรูปล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ

หากย้อนไปในกาลแห่งสยามเมื่อราว 120 ปีก่อน นับตั้งแต่ พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ได้นำวิทยาการถ่ายภาพเข้ามาในสยาม เมื่อ พ.ศ. 2388 ในช่วงปลายสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 การถ่ายภาพจึงเริ่มเป็นที่นิยมและปรากฎอย่างเด่นชัดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถึงขนาดที่มีการถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ส่งไปถวายเป็นหนึ่งในเครื่องราชบรรณาการ และพระราชทานเป็นเครื่องเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ จนกระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องการถ่ายรูปมาก จนเรียกได้ว่าเป็นผู้นำในการ “เล่นกล้อง” ทรงฉายพระรูปทรงถ่ายไว้เป็นหลักฐานมากมาย ไม่เพียงเท่านั้นการเริ่มให้ความสนใจการถ่ายภาพในยุคนี้ยังทำให้ช่างถ่ายภาพและเทคโนโลยีการถ่ายภาพต่างๆ หลั่งใหลเข้ามาสู่ดินแดนสยามมากขึ้น เกิดเป็นการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่บันทึกเรื่องราวความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมของกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งอดีต ให้ปรากฎอย่างแจ่มชัดก้าวผ่านห้วงเวลาต่างๆ สู่การรับรู้ของคนในยุคปัจจุบัน

[caption id="attachment_176343" align="aligncenter" width="503"] ภาพวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร และสภาพโดยรอบ เมื่อ 100 ปีก่อน ถ่ายภาพจากพระปรางค์วัดอรุณฯ ภาพวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร และสภาพโดยรอบ เมื่อ 100 ปีก่อน ถ่ายภาพจากพระปรางค์วัดอรุณฯ[/caption]

การแสดงตัวตนของช่างถ่ายภาพสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบผ่านเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ สู่การจดจำจนเป็นเอกลักษณ์ส่วนบุคคลที่มิอาจพรากจากตัวตนไปได้ ในยุคนั้นหนึ่งในช่างภาพที่สร้างผลงานอันยอดเยี่ยมผ่านการจัดวางองค์ประกอบภาพที่งดงามไร้ที่ติ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพบุคคลหรือภาพวิวทิวทัศน์ต่างๆ ผ่านการผสมน้ำยาล้างภาพเกิดเป็นพื้นสีออกแดงอิฐที่ขับความโดดเด่นของภาพให้มีมิติและน่ามองมากยิ่งขึ้น ช่างถ่ายภาพท่านนั้นก็คือ “โรเบิร์ต เลนซ์” นั่นเอง

MP30-3277-1 ความนิยมในการถ่ายภาพของชาวสยามที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ มร.โรเบิร์ต เลนซ์ ซึ่งได้ตั้งร้านถ่ายรูปขึ้นเป็นที่แรกบนดินแดนเอเชียอาคเนย์ในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี 2435 และต่อมาได้ย้ายมาเปิดสาขาที่ประเทศสิงคโปร์ในปี 2437 พร้อมๆ กับการเดินทางพาคณะเข้ามารับจ้างถ่ายรูปในดินแดนสยามเป็นการชั่วคราวที่บริเวณถนนโรงแรมโอเรียนเต็ล จนในปี 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จไปถ่ายรูปที่ร้านของ มร.โรเบิร์ต เลนซ์ ในสิงคโปร์ ในคราวเสด็จประภาสสิงคโปร์และชวาเป็นครั้งที่ 2 และในปีเดียวกันนั้นเอง มร.โรเบิร์ต เลนซ์ ตัดสินใจตั้งร้านถ่ายรูปเป็นการถาวรในกรุงสยาม บริเวณหัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตีทอง
ร้านโรเบิร์ต เลนซ์ ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการมาก และเป็นห้างที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในขณะนั้น มีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก มีทั้งพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ชาวต่างประเทศ และพ่อค้าคหบดี มร.โรเบิร์ต เลนซ์ ถ่ายรูปบุคคลต่างๆ ด้วยฝีมืออันยอดเยี่ยม ใช้ฉากประกอบที่ประณีต สวยงาม เทียบระดับได้กับห้องภาพชั้นหนึ่งของยุโรป นอกจากนั้น มร.โรเบิร์ต เลนซ์ ยังถ่ายภาพทิวทัศน์ สภาพบ้านเมือง การดำเนินชีวิตของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 5 หลายแง่มุม รวมทั้งจำหน่ายอุปกรณ์การถ่ายรูป เช่น กล้องถ่ายรูป อัลบั้ม กรอบรูป กระจก น้ำยาล้างรูป รวมทั้งบัตรอวยพร โปสการ์ด และรูปถ่ายต่างๆ ฯลฯ

MP30-3277-4 ด้วยผลงานการถ่ายภาพอันเป็นที่ประจักษ์ชัด มร.โรเบิร์ต เลนซ์ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราแผ่นดินเป็นเกียรติยศ เช่นเดียวกับช่างถ่ายรูปหลวงหลายคนที่เคยได้รับ และได้ดำเนินกิจการในเมืองไทยเป็นเวลานาน
“ก่อนเปิดให้บริการห้องภาพ เลนซ์ได้ติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ให้ได้ชมกันอย่างใกล้ชิดภายในห้องรับรองของร้าน จนเป็นที่สนใจของคนที่สัญจรไปมา นอกจากนั้นยังได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์นานนับเดือน”

หลังจากร้านถ่ายภาพดำเนินกิจการในเมืองไทยได้ 10 ปี มร.โรเบิร์ต เลนซ์ ได้ขายกิจการร้านถ่ายรูปให้ มร.อีมิล กรูต (Mr. Emil Groote) และ มร.ซี ปรุส (Mr. C. Pruss) ในปี พ.ศ. 2449 ซึ่งทั้งสองได้ดำเนินกิจการเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2460 ร้านถ่ายรูปโรเบิร์ต เลนซ์ จึงถูกรัฐบาลสยามเข้ายึดทรัพย์เพราะเป็นร้านของคนเยอรมัน จึงปิดกิจการลงโดยปริยาย

ต่อมาปี พ.ศ. 2461 รัฐบาลสยามจึงเข้ามาบริหารงานเป็นร้านถ่ายรูปหลวง ในชื่อร้าน ห้องภาพฉายานรสิงห์ ที่เป็นที่รู้กจักกันในชาวสยามชั้นหลังมานี้นั่นเอง ร้านนี้เลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2476 ทั้งร้านถ่ายรูปโรเบิร์ต เลนซ์ และห้องฉายานรสิงห์ ได้ฉายพระรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย ขุนนางของไทยเอาไว้เป็นจำนวนมาก ภาพเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีคุณภาพดีเยี่ยมเทียบเท่าระดับสากล นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ล้ำค่าของไทย และด้วยสายเลือดนักสักสมของคุณโอ๊ค – อรรถดา คอมันตร์ หลานปู่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยกับการก้าวสู่การรวมตัวแบบกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอชียตะวันออกเฉียงใต้ “พันเอก (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันตร์” และในฐานะกรรมการบริหาร บริษัท สำนักพิมพ์ สยาม เรเนซองส์ จำกัด ผู้ผลิตหนังสือคุณภาพด้านประวัติศาสตร์ของสยามประเทศ โดยเฉพาะในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 การรวบรวมภาพถ่ายอันทรงคุณค่า ผลงานของ มร.โรเบิร์ต เลนซ์ จึงเริ่มต้นขึ้น การสืบเสาะหาภาพต้นฉบับจากทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกับการศึกษารูปแบบการสื่อสารของสมองกับการจินตนาการร่วมกับภาพถ่าย หลอมรวมสู่“นิทรรศการพิเศษ 120 ปี โรเบิร์ต เลนซ์ และห้องภาพในสยาม” ณ ใจกลางกรุงเทพมหานคร

พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ในพระราชพิธีโสกันต์ สง่างามโดดเด่นในห้องจัดแสดงนำเสนอด้วยกรรมวิธีพิเศษอัดขยายใหญ่พร้อมรายละเอียดชัดเจนด้วยเทคนิคแบบ Fine Art ทำให้เราได้เห็นรายละเอียดของเครื่องทรงที่เต็มไปด้วยความงดงามอ่อนช้อยของเครื่องประดับอันล้ำค่า ส่วนหนึ่งของพระราชพิธีอันงดงามในราชสำนักไทย

MP30-3277-3 นอกจากนั้นภาพต่างๆ ในชั้นที่ 1 ของ Open House Bookshop by Hardcover มากกว่า 20 ภาพที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมสยามเมื่อ 100 ปีก่อน ภาพอาคารบ้านเรือนที่ปัจจุบันแปรเปลี่ยนจนไม่เหลือเค้าความเดิม แต่ยังคงเห็นความเจริญรุ่งเรืองของเมืองซึ่งเป็นทั้งศูนย์กลางทางอำนาจและศูนย์กลางทางการค้าของดินแดนแถบนี้
ยังนำเสนอผ่านการใช้เทคนิค Multiple Tone เพื่อสร้างชีวิตชีวาให้ภาพเก่าจากการลงสีภาพบางจุด (ใช้สามสีหลัก คือ แดง เหลือง และเขียว) ทำให้การชมภาพมีความสัมพันธ์กันการใช้จินตนาการจากประสบการณ์ส่วนบุคคลของแต่ละคนที่กำหนดสีขององค์ประกอบต่างๆในภาพภายในใจได้ เกิดเป็นภาพมุมมองใหม่ๆ ที่มีมิติและสวยงามมากกว่าเดิม นับเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่ายิ่งที่จะได้สัมผัสกับความละมุนทางประวัติศาสตร์ที่ส่งความผ่านภาพถ่ายให้เราได้เก็บไว้เล่าขานชั่วลูกชั่วหลานต่อไป

นิทรรศการพิเศษ “120 ปี โรเบิร์ต เลนซ์ (Robert Lenz) และห้องภาพในสยาม” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1-12 กรกฎาคมนี้ ที่ Open House Art Tower, Level 6, Central Embassy. เวลา 10.00-22.00 น. (วันศุกร์ และเสาร์ จัดแสดงถึง 24.00 น.) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 063-224-1555

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560