‘ฉัตรชัย’เครื่องร้อนถกไอยูยู ทำงานเชิงรุกไม่รอมาตรวจ/ส่งออกประมง 7 เดือนยอดพุ่ง

26 ก.ย. 2559 | 04:00 น.
“ฉัตรชัย” เครื่องร้อนไม่รอให้อียูมาตรวจประเมินไอยูยูเดือน พ.ย.แย้มเตรียมนำคณะบินแจงผลงานล่วงหน้า หวังปลดใบเหลืองโดยเร็ว ด้านอธิบดีประมงระบุอียูส่งสัญญาณเชิงบวก แต่คงต้องใช้เวลาแก้ปัญหา เอกชนเห็นพ้องไทยแก้ปัญหาได้เร็ว หวังได้รับข่าวดีเร็วๆ นี้ ขณะตัวเลขส่งออกสินค้าประมง 7 เดือนปี 59 มูลค่าพุ่ง 5.2 หมื่นล้านบาทโตกว่า 14% บ่งชี้คู่ค้าเชื่อมั่นไทยแก้ไอยูยู

จากการที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เปิดประเด็น " นับถอยหลังอียูประเมินไทย” แก้ไอยูยูเข้าตาหรือไม่ โดยเตรียมต้อนรับคณะอียูถกผลประเมินในวันที่ 1-4 พฤศจิกายน 2559 ในฉบับที่ 3193 วันที่ 18-21 กันยายน 2559 นั้น

ต่อกรณีดังกล่าว พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยกล่าวว่า “ผมไม่รอ จะเดินทางไปคุย และอยากไปแลกเปลี่ยนให้ทางอียูเห็นความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาของไทยว่าเราแก้ไขปัญหาอะไรไปแล้วบ้าง แล้วจะมีอะไรให้เรานำมาแก้ไขปัญหาต่อ” ทั้งนี้จะนำทุกอย่างไปเสนอทางกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และการประมงของสหภาพยุโรป (อียู ) ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในเร็วๆ นี้

เช่นเดียวกับ ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ที่กล่าวว่า จากสัญญาณที่ทางคณะอียูได้มาพูดคุยครั้งล่าสุดและระบุแนวทางแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(ไอยูยู)ของไทยถูกต้อง และให้เวลาดำเนินการต่อแล้วถือเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา เช่นนอร์เวย์ใช้เวลาแก้ปัญหาถึง 25 ปี จึงสำเร็จ ทั้งนี้หากพิจารณา พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ให้ดี จะเห็นว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ ดังนั้นจึงขอให้ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบเข้าใจ

"หน้าที่ของข้าราชการไม่ใช่ห้ามเอกชนทำธุรกิจ แต่เป็นการส่งเสริมให้ทำธุรกิจภายใต้กฎกติกาที่เท่าเทียมกัน และมีความปลอดภัยของผู้บริโภค วันนี้จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันคิดนอกกรอบที่ต้องผลักดันการแก้ปัญหาให้สำเร็จ ขณะนี้ก้าวไปมากแล้ว มีแพปลา ที่มาจดทะเบียนในระบบของกรมประมง จำนวน 900 แพ อยู่ใน 22 จังหวัดชายทะเล ในส่วนของภาครัฐต้องการสนับสนุนให้เอกชนแข่งขันได้ ไม่ใช่เป็นตัวขวาง หรือขัดขวางการทำงานของเอกชน ในส่วนของกรมพร้อมที่จะสนับสนุน”

ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาประมงของไทย ถือว่าใช้เวลาแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และมีความก้าวหน้ามาก จะเห็นว่าการนำเรือที่ไม่ถูกต้อง ก็ตัดออกจากระบบ หากเปรียบเทียบกับประเทศที่โดนใบเหลืองด้วยกันนับว่าไทยแก้ปัญหาได้รวดเร็วมาก เอกชนก็หวังว่าการที่อียูจะมาประเมินไทยในสิ้นปีไม่น่าเลวร้าย คาดหวังจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมประมงไทย อย่างไรก็ดี จุดอ่อนที่ภาครัฐควรจะปรับปรุง เช่น ระบบเทคโนโลยี และข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก หรือข้อมูลระบบแพปลา 900 แห่งควรจัดเก็บในฐานข้อมูล สามารถที่จะให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์ได้ด้วย ไม่ควรที่จะปิดเป็นความลับ

สอดคล้องกับ ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ที่กล่าวว่า ธุรกิจไทยควรจะเปิดเผยแบบโปร่งใส ทุกขั้นตอนไม่ใช่มัวห่วงแต่กลัวว่าสรรพากรจะตรวจสอบเรื่องการเสียภาษี แต่ ณ วันนี้ควรมีการตรวจสอบว่ามีการจับปลาที่ไม่ถูกต้องเข้าไปในระบบเท่าไร ขณะที่ในส่วนของภาครัฐก็ควรสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้ด้วย ไม่ใช่ที่จะไปปกป้องเอกชน และเงินส่วนนี้ในแต่ละปีจะหล่นหายจากระบบตรวจสอบไม่น้อย หากนำกลับมาพัฒนาอุตสาหกรรมประมงจะช่วยได้อีกมากมีไม่น้อย ดังนั้นข้อมูลต่างๆ ควรเปิดเผยอย่างน้อยเอกชนจะได้นำมาเป็นฐานในการประเมินทั้งการผลิตและการตลาด นี่แหละจะทำให้ไทยเข้าสู่ปฎิรูปประมง 4.0

ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยข้อมูล การส่งออกสินค้าประมงไทยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 ว่า มีการส่งออกสินค้ากุ้ง ปลาหมึก และปลาปริมาณรวม 2.79 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 5.25 หมื่นล้านบาท โดยในแง่ปริมาณขยายตัวลดลง 3.75% ส่วนด้านมูลค่าเพิ่มขึ้น 14.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559