วีอาร์บุกงาน‘โตเกียวเกมโชว์’ วงการตลาดเกมหวังช่วยฟื้นธุรกิจ

20 ก.ย. 2559 | 13:00 น.
เทคโนโลยี virtual reality ก้าวขึ้นมาเป็นจุดเด่นประจำงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเกมครั้งใหญ่ที่โตเกียวในปีนี้ สะท้อนถึงทิศทางของตลาดเกมต่อจากนี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในงานโตเกียว เกม โชว์ (Tokyo Game Show) ประจำปีนี้ที่มีกำหนดเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมอย่างเป็นทางการในช่วงสุดสัปดาห์ (17-18 กันยายน) เป็นการฉลองครบรอบ 20 ปีของการจัดงาน โดยมีกว่า 600 บริษัททั้งจากในญี่ปุ่นและต่างชาติเข้าร่วมจัดแสดงพร้อมกับเปิดตัวเกมใหม่กว่า 1,000 เกม อีกทั้งมีการเปิดพื้นที่ให้กับอุปกรณ์เทคโนโลยีความจริงเหมือน (virtual reality) หรือวีอาร์โดยเฉพาะ สะท้อนถึงกระแสของเทคโนโลยีดังกล่าวที่มีแนวโน้มจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในธุรกิจเกมนับต่อจากนี้

แม้ยังยากที่จะคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีวีอาร์จะทำผลงานได้ดีเพียงใดในเชิงธุรกิจ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการเกมเห็นพ้องว่าเทคโนโลยีดังกล่าวคือหนทางแห่งอนาคต นายยาสุโอะ ทากาฮาชิ ผู้อำนวยการของโซนี่ อินเตอร์แอคทีฟ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ธุรกิจเกมในเครือโซนี่ คอร์ป เชื่อว่า ปี 2559 จะเป็นปีเปิดตัวของวีอาร์ ซึ่งจะเข้ามาช่วยฟื้นอุตสาหกรรมเกมที่ชะลอตัวจากผลกระทบของเกมบนสมาร์ทโฟน

"จนถึงเวลานี้ เราเล่นเกมกับโทรทัศน์ แต่ด้วยวีอาร์ ผู้เล่นสามารถเข้าไปสัมผัสโลกภายในเกม มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่อย่างยิ่ง" นายทากาฮาชิกล่าว พร้อมกับเสริมว่า วีอาร์จะมีบทบาทเป็นวงกว้างในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ภาพยนตร์ และการเดินทางเสมือนจริง

ทั้งนี้ โซนี่เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่เป็นผู้ปลุกกระแสวีอาร์ ด้วยอุปกรณ์เพลย์สเตชัน วีอาร์ (PlayStation VR) ที่คาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายในเดือนตุลาคม ด้วยราคาประมาณ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 14,000 บาท) ซึ่งเป็นสนนราคาที่ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะช่วยให้อุปกรณ์วีอาร์เข้าถึงผู้คนทั่วไปได้มากขึ้น เทียบกับราคาของอุปกรณ์คู่แข่งอย่างโอคูลัส ริฟต์ (Oculus Rift) ที่อยู่ประมาณ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 21,000 บาท) และเอชทีซี ไวฟ์ (HTC Vive) ที่ตั้งราคาขายไว้ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 28,000 บาท)

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อเร็วๆ นี้จากผู้เชี่ยวชาญในวงการเกม 635 ราย ซึ่งรวมถึงผู้บริหารบริษัทสตาร์ทอัพและนักลงทุน โดยบริษัทเพอร์กินส์ โคล และอัพโหลด พบว่า การขาดแคลนคอนเทนต์เป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดต่ออนาคตของวีอาร์ในสายตาของผู้เข้าร่วมการสำรวจ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความกังวลต่อปัจจัยอื่นๆ อาทิ ราคา ฮาร์ดแวร์ที่มีขนาดใหญ่ และความขัดข้องทางเทคนิค แต่กระนั้นผู้เข้าร่วมการสำรวจส่วนใหญ่กล่าวว่ามีแผนจะลงทุนในวีอาร์ แม้ว่าจะลงทุนอย่างระมัดระวังในช่วงแรก

นักวิเคราะห์จากโนมูระกล่าวว่า การประกาศเปิดตัวคอนเทนต์วีดีโอและเพลงจำนวนมากของโซนี่นับเป็นพัฒนาการในเชิงบวก ซึ่งจะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้ และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าโซนี่ได้ดึงเอาจุดแข็งด้านวีดีโอและเพลงเข้ามาใช้สร้างประโยชน์ในธุรกิจวีดีโอเกม

นอกจากโซนี่แล้ว เอชทีซีเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อีกหนึ่งรายที่นำอุปกรณ์วีอาร์ของตนเอง คือ ไวฟ์ มาจัดแสดงที่งานโตเกียว เกม โชว์ พร้อมกับเกมต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์เสริมเพื่อสร้างระบบอีโคซิสเต็มที่ครอบคลุมให้กับอุปกรณ์วีอาร์ของตนเอง ขณะที่บริษัทเกมอื่นๆ อาทิ บันไดนัมโก้ แคปคอม และเซก้า ก็ได้นำซอฟต์แวร์เกมวีอาร์มาเปิดตัวในงานนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,193 วันที่ 18 - 21 กันยายน พ.ศ. 2559