กรมการจัดหางานจับมือธกส.หนุนแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศครบวงจร

14 ก.ย. 2559 | 07:39 น.
วันนี้(14 ก.ย.2559 ) นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการจัดหางานและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแรงงานไทยในการไปทำงานต่างประเทศแบบครบวงจร ณ อาคารทาวเวอร์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ (บางเขน)

นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการจัดหางานและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนแรงงานไทยที่ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศ ให้ได้รับการดูแลในเรื่องการจ้างงานและผลตอบแทนที่เป็นธรรม ได้รับสวัสดิการและมีความเป็นอยู่ที่ดีมีแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และสนับสนุนสินเชื่อตลอดจนบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งจะเป็นการสร้างมาตรฐานที่ดีให้แก่แรงงานไทยและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ แรงงานไทยจะได้รับประโยชน์จากการให้บริการสินเชื่อของธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งจะได้รับความสะดวกในการโอนเงินส่งกลับมาประเทศไทยและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการได้รับสินเชื่อเพื่อใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพภายหลังที่กลับจากการไปทำงานในต่างประเทศแล้วด้วย

ในส่วนของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน มีหน้าที่ในการดำเนินงานดังนี้ 1) สนับสนุนการตรวจสอบและรับรองรายชื่อแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้ไปทำงานต่างประเทศตามที่ขอใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร ธ.ก.ส.  2) แจ้งรายชื่อบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจัดหางาน และรายชื่อบริษัทที่ถูกพักหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตจัดหางานให้     ธ.ก.ส.ทราบ  3) สนับสนุน ธ.ก.ส.ในการเข้าร่วมกิจกรรมการรับสมัครแรงงานไทยที่จะไปทำงานในต่างประเทศ และกิจกรรมอื่นภายในกรม รวมถึงสำนักงานจัดหางานจังหวัดต่างๆ ซึ่งดำเนินงานเกี่ยวข้องกับข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ 4) สนับสนุนข้อมูลแรงงานไทยตลอดจนข้อมูลอื่นแก่ ธ.ก.ส. ตามความเหมาะสมภายใต้ข้อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และ5) สนับสนุนการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานร่วมกับ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ในปี 2559 (มกราคม-สิงหาคม 2559) มีคนหางานไทยได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 81,701 คน จำแนกเป็น เดินทางด้วยตนเอง จำนวน 8,492 คน กรมการจัดหางานจัดส่ง จำนวน 8,709 คน นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน จำนวน 6,011 คน นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน จำนวน 3,002 คน บริษัทจัดส่ง จำนวน 22,074 คน Re-Entry จำนวน 33,413 คน สร้างรายได้ส่งกลับประเทศไทยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นจำนวน 60,400 ล้านบาท